เปิดมาตรการช่วยเหลือทางสุขภาพให้กับผู้สูงอายุในช่วงโควิด-19

เปิดมาตรการช่วยเหลือทางสุขภาพให้กับ ผู้สูงอายุในช่วงโควิ-19 พบ ส่งยาทางไปรษณีย์มากขึ้น ลดเดินทางสัมผัสเชื้อ ขณะที่สปสช. อุดหนุนงบเกือบพันล้าน ให้ท้องถิ่น เฝ้าระวัง – คัดกรอง ป้องกันการแพร่ระบาด

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใน “ระลอกแรก”  ปี 2563 โดยในส่วนของมาตรการช่วยเหลือด้านสุขภาพ พบว่า มีการใช้ช่องทางในการส่งยาให้กับผู้ป่วยผ่านทาง “ไปรษณีย์” มากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งลดความเสี่ยงของผู้ป่วยในการเดินทางมายังหน่วยบริการ เพื่อรับยาหรือเวชภัณฑ์ทางการแพทย์  โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินโครงการจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ทางไปรษณีย์ให้กับผู้มีสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

จากการดำเนินงานในเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน 2563 พบว่า หน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการมีทั้งหมด 212 แห่ง มีผู้รับบริการจำนวน 134,464 คน และในจำนวนครั้งการรับบริการจำนวน 154,612 ครั้ง

เรียกได้ว่าในช่วงวิกฤติโควิดนี้ทำให้บริการส่งยาทางไปรษณีย์ไปที่บ้านถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติมากขึ้น  แม้จะเป็นเพียงโครงการนำร่อง แต่ก็มีส่วนช่วยลดปัญหาความไม่สะดวกในการเดินทางไปพบแพทย์ของผู้สูงอายุที่มักมีโรคประจำตัว และต้องได้รับยาเป็นประจำในช่วงที่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์

ขณะที่การศึกษาของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งได้รับบริการส่งยาทางไปรษณีย์ถึงบ้าน หรือตามศูนย์สุขภาพใกล้บ้านเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากช่วงปกติที่มีเพียงร้อยละ 0.3 เป็นร้อยละ 3 ในช่วงล็อกดาวน์ แต่ช่วงเปิดเมืองลดลงเหลือร้อยละ 0.8

สำหรับการบริการส่งยาทางไปรษณีย์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นชัดเจนที่สุดในพื้นที่เขตเมืองต่างจังหวัด ในขณะที่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในพื้นที่เขตชนบทและกรุงเทพมหานคร ได้รับการบริการทางกล่าวในสัดส่วนที่น้อย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบริการส่งยาทางไปรษณีย์เป็นมาตรการด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นมา เพื่อรับมือต่อสถานการณ์ล็อกดาวน์เป็นการเฉพาะ แต่เมื่อกลับเข้าสู่ช่วงเปิดเมืองบริการดังกล่าวกลับลดน้อยลง

ขณะเดียวกันการให้บริการสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เองก็มีความสำคัญ โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีบทบาทสำคัญในการดำเนินโครงการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แก่ประชาชนทุกสิทธิ์และทุกกลุ่มวัยในพื้นที่

โดยในปีงบประมาณ 2563 มีการดำเนินโครงการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่จำนวน 5,204 แห่ง ภายใต้การทำงานจำนวน 16,196 โครงการอใช้งบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 991 ล้านบาทหรือเฉลี่ยโครงการละ 77,383 บาท

ลักษณะโครงการหรือกิจกรรมการดำเนินงานมีรายละเอียดดังนี้ 1.การรณรงค์ให้ความรู้ในการป้องกันตามแนวทางของกรมควบคุมโรคจำนวน 8,637 โครงการ , 2.การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันเช่นหน้ากากอนามัยเจลล้างมือเทอร์โมมิเตอร์จำนวน 3,701 โครงการ ,3.การคัดกรองกลุ่มเสี่ยงจำนวน 1,125 โครงการ และ 4.การตรวจเยี่ยมเพื่อติดตามกลุ่มเสี่ยงในชุมชนจำนวน 759 โครงการและห้าการติดตามเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่นจำนวน 1,974 โครงการ

////////////

ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี2563สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ลิงค์แนบนี้

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2563