พลังอาสาบทบาทสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุในสถานการณ์โควิด-19

พลังอาสาบทบาทสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุในสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังคงพบปัญหาความไม่ต่อเนื่อง ผลการศึกษาพบหลังคลายล็อกดาวน์ยังมีผู้สูงอายุขาดแคลนอาหาร

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เราเห็นบทบาทของอาสาสมัครในการดูแลผู้สูงอายุได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ในพื้นที่ต่างจังหวัด อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร(อสส.) ซึ่งต่างมีส่วนอย่างสำคัญต่อการช่วยเหลือผู้สูงอายุในภาวะวิกฤต ทั้งในรูปแบบของการสอบถามสุขภาวะทางใจ และการนำอาหารไปแจกจ่ายให้ที่บ้านหรือชุมชนใกล้บ้านของผู้สูงอายุ

จากผลการศึกษาข้อมูล ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19  “ระลอกแรก” ในปี 2563 ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ดำเนินการ โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถูกบรรจุในรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 นั้น พบว่า บทบาทของอาสาสมัครต่อผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เพิ่มมากขึ้นในช่วงล็อกดาวน์อย่างชัดเจน โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 58.4 ทั้งในรูปแบบของการสอบถาม การเยี่ยมเยียนเพิ่มเติมจากช่วงปกติ แต่สัดส่วนจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 16.5 เมื่อเปิดเมืองอีกครั้ง

โดยพื้นที่เขตเมืองในต่างจังหวัดได้รับบริการด้านนี้มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 64 รองลงมาเป็นกรุงเทพมหานครได้รับร้อยละ 62.9 และเขตชนบท มีอาสาสมัครแวะเวียนไปหาเพียงร้อยละ 43.8

จากข้อมูลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2563 มีอสม. และอสส.รวมกันทั้งสิ้น 1,027,036 คน โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อจ่ายเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชยและเสี่ยงภัย สำหรับการปฎิบัติงานของอสม. และอสส.ในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชนเป็นเวลา 7 เดือน ตั้งแต่มีนาคมถึงกันยายน 2563 ภายในวงเงินไม่เกิน 3,622,319,500 บาท เพื่อสนับสนุนบทบาทของอาสาสมัครเหล่านี้ในการสื่อสารให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ โควิด-19

ส่วนอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงขอบมนุษย์ (เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ) หรือ อพม. ทุกจังหวัดทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 24,293 คน

นอกจากความช่วยเหลือด้านสังคมจากภาครัฐแล้ว ยังพบว่าบทบาทการให้ความช่วยเหลือต่อผู้สูงอายุของภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม มีเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงล็อกดาวน์ ได้มีการแจกจ่ายเครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในหลายโครงการที่น่าสนใจ เช่น การจัดตั้งครัวพระราชทาน อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย  การจัดตั้งตู้ปันสุข การนำโครงการธนาคารอาหารมาพัฒนาปรับปรุงในสถานการณ์โควิด-19 การลดราคาอาหารกล่องของบริษัทเอกชน รวมทั้งการส่งอาหารถึงบ้านผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง

จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 80.1 ของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยได้รับการแจกจ่ายอาหารในช่วงล็อกดาวน์ แต่สัดส่วนจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 12.9 เมื่อเข้าสู่ช่วงเปิดเมือง โดยผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในเขตเมืองในต่างจังหวัดจะได้รับความช่วยเหลือมากที่สุดร้อยละ 88.5 รองลงมาคือกรุงเทพมหานครร้อยละ 87.7 และเขตชนบทได้รับความช่วยเหลือน้อยที่สุดร้อยละ 56.2

แต่กระนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงเปิดเมืองความช่วยเหลือลดลงอย่างชัดเจน ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าระบบการจัดการเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในเรื่องการแจกจ่ายอาหารในภาวะวิกฤติยังขาดความต่อเนื่อง คือมีการดำเนินการอย่างจริงจังเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์เท่านั้น ในขณะที่เมื่อเข้าสู่ช่วงเปิดเมืองยังคงมีประชากรสูงอายุที่ขาดแคลนอาหารและไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านอุปโภคบริโภคอยู่

//////////////

ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี2563 สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ลิงค์นี้ https://thaitgri.org/?p=39772