เปิด 5 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อภาครัฐ ใช้วิกฤตโควิด19 เป็นบทเรียนเตรียมความพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินในอนาคต

เปิด 5 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อภาครัฐ ใช้วิกฤตโควิด19 เป็นบทเรียนเตรียมความพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินในอนาคต แนะแก้ปัญหาผู้สูงอายุเข้าไม่ถึงบริการสวัสดิการทางสังคม ให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของผู้สูงวัยอย่างแท้จริง

ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการใช้มาตรการล็อกดาวน์ แต่หากพิจารณาอย่างรอบด้านแล้วจะพบว่าการเข้าถึงบริการและการดูแลสำหรับผู้สูงอายุในหลายแง่มุม ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาเดิมที่มีมาแล้วอยู่ก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะมีปัจจัยแทรกซ้อนอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การใช้มาตรการล็อกดาวน์ ที่มาพร้อมกับความไม่สะดวกต่างๆช่วยสะท้อนและเป็นตัวเร่งทำให้เห็นปัญหาเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้เสนอแนะให้ภาครัฐพิจารณาปรับปรุงนโยบายและมาตรการต่างๆเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้สูงอายุ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงและความไม่เพียงพอของบริการทางสังคมด้านต่างๆของผู้สูงอายุไทย โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 49 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของผู้สูงอายุทั้งหมด

พร้อมกับเสนอแนะให้ภาครัฐพิจารณาศึกษาและออกแบบระบบสวัสดิการและบริการทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่จำกัดเฉพาะประชากรที่เป็นผู้สูงอายุแล้ว แต่ให้ครอบคลุมไปยังประชากรที่ยังจะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคตด้วย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความพยายามและมาตรการเชิงนโยบายในทุกระดับ โดยควรให้ความสนใจเป็นพิเศษกับความแตกต่างของช่วงอายุในการวางแผนและการตอบสนองต่อผลกระทบที่เกิดจากวิกฤต โควิด-19 และการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุฉบับนี้ยังได้สังเคราะห์ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ศึกษาผลกระทบของโควิด-19 ระลอกแรกในปี 2563 ต่อผู้สูงอายุในประเทศไทย จึงเสนอให้มีการพิจารณาปรับปรุงนโยบายเพื่อการจัดบริการทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุด้วยข้อเสนอแนะนโยบายทั้ง 5 ด้านเพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของผู้สูงอายุในวันนี้และในอนาคตอย่างแท้จริง และเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเผชิญหน้ากับวิกฤตหรือภัยพิบัติอื่นๆต่อไปในอนาคต

ด้านเศรษฐกิจ ให้สร้างหลักประกันทางเศรษฐกิจที่เป็นมาตรการระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุให้มีความมั่นคงและยังยืนด้วยการพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้เรื่องการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ รวมถึงส่งเสริมและขยายโอกาสในการทำงานให้กับผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง โดยเป็นงานที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุยังสามารถสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองได้ให้นานที่สุดเท่าที่ต้องการ

ด้านสุขภาพ ต้องเร่งจัดหาวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ให้มีปริมาณเพียงพอกับประชาชนในพื้นที่ และให้ให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายและเงื่อนไขทางสุขภาพของประชากรกลุ่มวัยต่างๆ รวมถึงการพัฒนาระบบส่งยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์ให้มีความต่อเนื่องสำหรับผู้สูงอายุในทุกสิทธิ์สุขภาพ รวมถึงต่อยอดไปสู่การรักษาทางไกล (Telehealth /Telemedicine) โดยระบบดังกล่าวควรนำมาใช้ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการแต่ต้องไม่ทำให้คุณภาพการรักษาลดลง

ด้านข้อมูลข่าวสาร พิจารณาเรื่องระบบบิ๊กดาต้าเพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการด้านข้อมูลสวัสดิการทุกประเภทและทุกโครงการของภาครัฐสำหรับผู้สูงอายุเข้าด้วยกัน  และพิจารณาปรับปรุงวิธีการเข้าถึงสวัสดิการและความช่วยเหลือต่างๆของภาครัฐเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและทั่วถึง อีกทั้งส่งเสริมให้เข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตอย่างทั่วถึง โดยกำหนดให้เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนและผู้สูงอายุควรได้รับ

ด้านที่อยู่อาศัย ควรส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจในการปรับบ้านให้เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับคนทุกวัย รวมถึงการผลักดันให้มีการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมในระดับชุมชนให้เหมาะสม และปลอดภัยเป็นนโยบายหลักในการจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่อาศัยในที่เดิมได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้านการดูแลระยะยาว ต้องเพิ่มกำลังคนในระบบอาสาสมัครและจิตอาสาในการดูแลผู้สูงอายุ จัดทำระบบข้อมูลและนำวิธีการให้แรงจูงใจมาใช้ในทางปฏิบัติแก่อาสาสมัครทั้งในรูปแบบการดูแลที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

////////////////////////

ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี2563 สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ลิงค์นี้ https://thaitgri.org/?p=39772