มส.ผส.จัดเวที สูงวัยในที่เดิมเห็นพ้องให้ผู้สูงอายุอยู่อาศัยในบ้าน-ชุมชนอย่างมีศักดิ์ศรีพึ่งพาตนเองได้

มส.ผส.จัดเวที สูงวัยในที่เดิม เห็นพ้อง ให้ผู้สูงอายุอยู่อาศัยในบ้าน-ชุมชน อย่างมีศักดิ์ศรีพึ่งพาตนเองได้ โดยรัฐต้องสนับสนุนที่อยู่อาศัย-การซ่อมแซม-จัดบริการด้านอื่น ให้มีที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม เผย สถิติ คนชรามีความไม่มั่นคงในเรื่องที่อยู่สูงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เสนอตั้ง ครม.แผนผู้สูงอายุ กำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบองค์รวม

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จัดเวทีกลยุทธ์  เรื่องการสูงวัยในที่เดิม (Ageing in Place) : ข้อเสนอนโยบายเพื่อการรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนา ประกอบด้วยพญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล , ดร.สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ดร.ณปภัช สัจนวกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล  , ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ ,นางศิริลักษณ์ มีมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ ,นพ.ธนัช พจน์พิศุทธิพงศ์ ผู้อำนวยการกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กทม. โดยมีดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมส.ผส. เป็นผู้ดำเนินรายการ

พญ.วัชรา กล่าวว่า ในปีคศ.2025 จะมีผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปจำนวน 15เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลก หรือ 1,200 ล้านคน แต่ไม่ได้กระจายอย่างเท่าเทียมกันทั่วโลก โดย 70 เปอร์เซนต์อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนประเทศไทย ประมาณการว่าในปี 2564 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2574 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุถึง 28 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการที่จะรับมือกับสังคมที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากได้นั้น จะต้องทำให้ประชากรเหล่านี้มีActive ageing ซึ่งก็คือการมีส่วนร่วมในพื้นที่ทางสังคมทั้งในเรื่องของเศรษฐศาสตร์ ในเชิงสังคม วัฒนธรรม

“การมีส่วนร่วมนั้นจะต้องหมายถึง การตัดสินใจของผู้สูงอายุ การพึ่งพาตัวเองได้ของผู้สูงอายุ และการมเสรีภาพในการที่จะเลือก ตัดสินใจและพึ่งพาตัวเองได้ และจะต้องเกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ที่ผู้สูงอายุมีความเชื่อมโยง มีความทรงจำ มีความหมาย เป็นพื้นที่ที่เขาสามารถมีบทบาทของเขาได้ ซึ่งอาจจะหมายถึงในครัวเรือน ในสังคม ชุมชนของเขา และเรื่องนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของสิทธิความเป็นมนุษย์พญ.วัชรากล่าว

พญ.วัชรา เปิดเผยว่า ในการสำรวจพบว่า มีกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความยากลำบากในชีวิตประมาณ 3 ล้านคน หรือคิดเป็น37 เปอร์เซ็นต์ขอผู้สูงอายุทั้งหมด  โดยรัฐมีนโยบายในการดูแลที่อยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุ 3 แนวทาง คือ 1 .บ้านที่อยู่อาศัย ที่แม้ว่าจะมีนโยบายของการเคหะแห่งชาติ แต่เป็นราคาที่แตะได้ยาก และมีจำนวนน้อยขณะเดียวกันเห็นว่าสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักคนชรา ยังไม่สามารถตอบโจทย์จำนวนความต้องการของผู้สูงอายุได้ และยังมีเรื่องของคุณภาพ ว่าจะพัฒนาอย่างไรให้ผู้สูงอายุที่เข้าไปได้ไปใช้ชีวิตในสถานสงเคราะห์ อยู่อย่างผู้สูงอายุที่มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ในฐานะผู้รับบริการแต่เพียงอย่างเดียว

2.แนวทางการซ่อมแซมปรับปรุงบ้านสำหรับผู้สูงอายุนั้น ไม่ได้มีระบบโครงสร้างการให้บริการที่ชัดเจน ดังนั้นการเข้าถึงการซ่อมแซมปรับปรุงบ้านก็อาจจะยังไม่ทั่วถึงแล้วก็ไม่เพียงพอ  และ3.แนวทางการบำรุงรักษาบ้านและบริการสนับสนุนอื่นๆถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เช่นระบบบริการที่เป็นการบำรุงรักษาบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่จะทำเองไม่ไหวแล้ว และบริการอื่นๆ ทั้ง การเดินทาง บริการสุขภาพ ส่วนนโยบายเพื่อส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุจะต้องมองเป็นองค์รวมมากเพื่อให้เกิดการปฏิบัติและเชื่อมโยงกัน

 

ชี้เทรนด์โลก ผู้สูงวัยอยู่ในที่เดิม ใช้ชุมชนเป็นฐานช่วยดูแล ย้ำเป็นทางออกของสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ หนุน ตั้งครม.แผนผู้สูงอายุ เหมือนในสิงคโปร์

ดร.ณปภัช กล่าวว่า เทรนด์การดูแลผู้สูงอายุทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าไปสู่วิธีการดูแลที่บ้านมากยิ่งขึ้น เพราะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถมีอิสระได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และรองรับสังคมสูงวัย โดยวิธีการที่ะทำให้สามารถรองรับสังคมสูงวัย ได้คือการทำให้ผู้สูงอายุแข็งแรง และแอคทีฟได้นานที่สุด ขณะเดียวกันยังช่วยลดงบประมาณ มีความยั่งยืนและเคารพทางเลือกของผู้สูงอายุ อีกทั้งช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุได้ จากสถานการณ์ช่วงโควิ-19 ที่ผ่านมา ในกลุ่มประเทศตะวันตกจะพบว่าผู้สูงอายุเสียชีวิตในที่อยู่อาศัยในเชิงสถาบัน เช่นสถาบันพยาบาล แคร์โฮมบ้านพักคนชรา  ที่เปิดดูแลระยะยาวจำนวนมากจนทำให้เกิดความพยายามผลักดันระบบสนับสนุนที่จะดูแลผู้สูงอายุ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ให้ผู้สูงอายุสามารถอาศัยอยู่ในชุมชนหรืออย่างน้อยที่สุดในบ้านของตัวเองให้ได้นานที่สุด

คลื่นสึนามิประชากร คือคลื่นที่สำคัญที่สุด เพราะประชากรไทยในรุ่นเกิดล้านจะกลายเป็นผู้สูงอายุในเร็ววัน คำตอบที่ได้ก็ควรจะสนับสนุนให้เขาอยู่ในบ้านเรือนหรือชุมชนของตัวเอง โดยใช้ผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลาง เช่น การปรับปรุงที่อยู่อาศัย พัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสภาพแวดล้อม การจัดตั้งศูนย์สำหรับผู้สูงอายุเวลากลางวัน ศูนย์ให้บริการดูแลระยะสั้น การให้บริการด้านสุขภาพทั้ง 5 ระดับ รวมไปถึงการให้บริการด้านสังคม  ในสถานการณ์โควิดทำให้เห็นว่าบริการบางอย่าง จำเป็นต่อการเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ต โดยผู้สูงอายุต้องสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อเป็นช่องทางให้เข้าถึงการรับบริการบางอย่างที่จำเป็นต่อชีวิตได้

ดร.ณปภัช เสนอด้วยว่า นโยบายการจัดความสัมพันธ์ Ageing in Place ควรเป็นเป้าหมายของทุกหน่วยงานภาครัฐ เช่นที่ในสิงคโปร์ มีคณะรัฐมนตรีที่ดูแลเกี่ยวกับการสูงวัยของประชากร” ซึ่งจะรวมกระทรวงที่มีแผนงานเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุทั้งหมดมาหารือกัน กำหนดนโยบายร่วมกัน คล้ายกับที่ไทยมีครม.เศรษฐกิจ นอกจากนี้เรื่องของระบบการเงินการคลังท้องถิ่น จะต้องให้คนมีส่วนร่วมในการจัดการชีวิตในอนาคตของตัวเอง สำหรับการดูมีกองทุนสำหรับการดูแลระยะยาวในอนาคตที่ต้องเริ่มสมบตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

เผยสถิติผู้สูงอายุมีฐานะยากจนมีกว่า 7 ล้านคน  และมีกว่า 32 เปอร์เซ็นต์ที่มีความไม่มั่นคงในสิทธิในที่อยู่อาศัย

ด้านดร.สุรางค์รัตน์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ผู้สูงอายุไทยที่มีอายุ55ปีขึ้นไป มีจำนวน 16 ล้านคน โดยเป็นผู้สูงอายุที่อายุ 55 ปีขึ้นไปและมีฐานะยากจนคิดเป็น 44.38 เปอร์เซ็นต์ หรือ 7.2 ล้านคน  ในจำนวนนี้อยู่อาศัยคนเดียว 4.97 เปอร์เซ็นต์ เหรือ 8 .1 แสนคน , อาศัยอยู่กับคู่ครอง 8.53 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1.3 ล้านคน ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตร อาศัยอยู่ในครัวเรือนหรืออาศัยอยู่ใกล้เคียง 16.40 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2.6 ล้านคน ในจำนวนนี้มีสถานะทางสุขภาพ คือ ติดสังคม 39.19 เปอร์เซ็นต์ ,ติดบ้าน 4.62 เปอร์เซ็นตฺ และสุขภาพติดเตียง 0.58 เปอร์เซ็นต์

หมายความว่าถ้าเราอยากให้ผู้สูงอายุได้อยู่ที่เดิม จะเห็นได้ว่าอย่างน้อยที่สุดกลุ่มติดบ้าน 750,000 คนต้องการบริการอะไรบางอย่าง และในอนาคตตัวเลขผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว หรืออยู่กันสองตายายก็เป็นกลุ่มที่ต้องการบริการนี้ แต่ในปัจจุบัน การสำรวจผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยพบว่า 30.29 เปอร์เซ็นต์ มีความไม่มั่นคงในสิทธิที่อยู่อาศัยเลย อยู่บ้านและที่ดินของคนอื่น อยู่ในที่บุกรุก อยู่ในที่เช่า โดยในจำนวนผู้สูงอายุที่ไม่มั่นคงในสิทธิที่อยู่อาศัย พบว่า 66.06 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้สูงอายุในกทม. ส่วนอีกร้อยละ 23.31 เป็นผู้สูงอายุในเขตเมือง

ชี้ ม.48 รธน. กำหนดให้ช่วยเฉพาะผู้สูงวัยยากไร้เท่านั้น ห่วง ปิดทางสวัสดิการถ้วนหน้า หากไม่แก้ไขบทบัญญัตินี้ แนะ สร้างความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ในชุมชน-เพื่อนบ้าน

ขณะที่.ศศิพัฒน์ กล่าวถึงข้อเสนอแนะแนวคิดสูงวัยในที่เดิม ว่า  จะต้องพิจารณาระบบสวัสดิการสังคมของประเทศให้ชัดเจน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดว่าเราจะไปแบบไหน เพราะถ้าดูในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 48 รัฐจะให้เงินช่วยเหลือเฉพาะคนที่ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพเท่านั้น ผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิ์ แต่คนทั่วไปไม่มีสิทธิ หลายคนเรียกร้องให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าแต่เรื่องนี้ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้ารัฐธรรมนูญยังไม่ได้แก้ตรงนี้

ทำไมระบบสุขภาพไทยถึงไปได้สวยมาก เพราะว่ามีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ดังนั้นเอามาคุยกันว่าระบบสวัสดิการของประเทศจะเอาแบบไหน นอกจากนี้จะต้องให้ความสำคัญกับระบบการจัดการบริการสังคม เท่ากับระบบทางกายภาพ และสร้างความเข้มแข็งของระบบความสัมพันธ์ของบุคคลและสภาพแวดล้อม ซึ่งระบบนี้ในบ้านเรามีอยู่แล้ว เป็นเรื่องชุมชน เพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นเพื่อนบ้านจะเข้าถึงสถานการณ์ได้เร็วกว่าเจ้าหน้าที่ศ.ศศิพัฒน์ ระบุ

 

กรมกิจการผู้สูงอายุ รับ กฎหมายบางฉบับล้าหลัง ต้องปรับให้ทันเหตุการณ์ หวังเกิดแนวทางปฏิบัติได้จริง ผุดไอเดีย ช่างชุมชน ปรับปรุงบ้านผู้สูงอายุให้ได้มาตรฐาน

นางศิริลักษณ์ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์เรามีการเตรียมความพร้อมมานานมาก มีบรรจุเรื่องการจัดการที่อยู่อาศัยในแผนผู้สูงอายุ มีการกำหนดดัชนีชัดเจนว่าผู้สูงอายุจะต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่มีสภาพที่เหมาะสม รวมถึงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ดำเนินการ โดยใช้ฐานข้อมูลของท้องถิ่น นอกจากนี้เห็นว่าจะต้องมีเรื่องขององค์ความรู้ช่างชุมชนในการที่จะปรับปรุงบ้านหรือที่อยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งช่าง และสมาชิกชุมชนจำเป็นจะต้องเข้าใจ เช่น เรื่องความกว้างของประตูที่มีความกว้างอย่างน้อย 90 เซ็นติเมตร

นางศิริลักษณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามให้นโยบายไปสู่ท้องถิ่นให้ชัดเจน มีการปรับมาตรการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการปรับสภาพที่อยู่อย่างไรก็ตามส่วนที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมก็มี เช่น กฎกระทรวงต่างๆที่อย่างล้าหลังไม่ทันสมัยและไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นโจทย์ที่จะต้องไปแก้ไขเพื่อให้เกิดความเข้มข้นและการผลักดันให้เกิดแนวทางปฏิบัติให้ได้จริงๆ อย่างในสิงคโปร์ มีการให้สิทธิพิเศษสำหรับบุตรหลานถ้าซื้อที่อยู่อาศัยโดยมีผู้สูงอายุเป็นสมาชิกครอบครัว โดยเน้นไปที่ความสัมพันธ์ของครอบครัวเพิ่มมากขึ้นม่ใช่ยึกเฉพาะตัวของผู้สูงอายุเพียงลำพัง

ตะลึง เขตสัมพันธวงศ์ มีประชากรสูงวัยถึง 32 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนประชากรทั้งหมด แพทย์เผย ช่วงโควิด-19 ผู้สูงอายุปฏิเสธออกนอกบ้านไปรักษาเพียบ

ด้านนพ.ธนัช กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาจะเห็นได้เลยว่าผู้สูงอายุที่ป่วยโควิด-19 เมื่อจะถูกรับตัวไปรักษาจะผู้ป่วยให้การปฏิเสธ 30 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีความประสงค์ว่าถ้ารักษาได้ขอรักษาที่บ้านเนื่องจากมีความคุนชิน อย่างไรก็ตามในกทม. มีการทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุซึ่ง กำหนดว่าผู้สูงอายุต้องมีที่อยู่อาศัยที่มีสภาพที่เหมาะสม โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน สำหรับแนวคิด active ageingนั้น กทม. มีประชากรผู้สูงอายุประมาณ 1.1 ล้านคน โดยในเขตที่มีผู้สูงอายุมากที่สุด คือเขต สัมพันธ์วงศ์ มีผู้สูงอายุถึง 32 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชาชน ซึ่งสถานการณ์ผู้สูงอายุในกทม.ถือว่า น่าเป็นห่วงที่มีจำนวนผู้สูงอายุเยอะมาก แต่ในส่วนของการทำงานก็พยามที่จะตอบสนองให้มีการดูแลผู้สูงอายุให้มากที่สุด

/////////////////////