เปรียบ ระบบบำเหน็จบำนาญในไทย เป็น “ปิ่นโต”

เปรียบ ระบบบำเหน็จบำนาญในไทย เป็น ปิ่นโตห่วงผู้สูงอายุ ที่มีปิ่นโตชั้นเดียว เบี้ยยังชีพที่รัฐจัดสรร เป็นรายได้หลัก ใช้เลี้ยงชีวิตในบั้นปลาย

9.7 ล้านคน  คือจำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพในปี 2563  ใช้งบประมาณ 76,280 ล้านบาท   โดยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนี้ เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ภาครัฐจัดสรรไว้ให้กับผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการดำรงชีวิตในแต่ละเดือน

ปัจจุบันการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะเป็นแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ  ซึ่งผู้สูงอายุจะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนต่อเนื่องไปจนกว่าจะเสียชีวิต ดังนี้ ช่วงอายุ 60-69 ปี ได้รับเงิน 600 บาทต่อเดือน , ช่วงอายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาทต่อเดือน ,ช่วงอายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาทต่อเดือน และช่วงอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท ต่อเดือน

แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก แต่ก็พบว่า “เบี้ยผู้สูงอายุ” เป็น “รายได้หลัก” ของผู้สูงอายุจำนวนมากในประเทศนี้  ที่ต้องพึ่งพาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตบั้นปลายชีวิต

เนื่องจากระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศไทยมีลักษณะเป็น “ปิ่นโต”  ซึ่งหมายความว่า ประชาชนคนหนึ่งมีโอกาสจะได้รับประโยชน์จากระบบบำเหน็จบำนาญหลายระบบได้พร้อมกัน  บางคนอาจมีปิ่นโตหลายชั้น ขณะที่บางคนอาจมีปิ่นโตเพียงชั้นเดียว

ทำให้กลุ่มคนบางส่วนของสังคม เช่น แรงงานนอกระบบ มีเพียงเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทำให้คนกลุ่มนี้ขาดความมั่นคงทางด้านรายได้

ผลการศึกษาเรื่อง “ทิศทางและนโยบายปฏิรูประบบบำนาญของประเทศไทย” โดย ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ประเทศไทยมีระบบบำเหน็จบำนาญอยู่หลายระบบ

ประกอบไปด้วย เบี้ยยังผู้สูงอายุ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น บำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

โดยมีทั้งระบบผู้จะรับสิทธิ์ประโยชน์ไม่ต้องมีส่วนร่วมจ่าย เพราะแหล่งเงินมาจาก “งบประมาณแผ่นดิน” คือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น และบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร

และระบบที่ผู้รับสิทธิ์ประโยชน์จะต้องมีส่วนร่วมจ่าย คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

นอกจากนี้ยังมีระบบจะต้องมีส่วนร่วมจ่ายเป็นระบบเฉลี่ยทุกข์-เฉลี่ยสุข ร่วมจ่ายโดย เจ้าตัว นายจ้าง และรัฐบาล คือกองทุนประกันสังคม และกองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ

ขณะที่ระบบอยู่บนหลักการของการออม และมีการสมทบร่วมโดยนายจ้างหรือรัฐบาล มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ทั้งนี้หากแบ่งออกตามเป้าหมาย พบว่า เป้าหมายที่มุ่งเน้นการจัดสรร “บำนาญ”ให้กับประชาชน คือ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” บำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น บำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร กองทุนประกันสังคม และกองทุนการออมแห่งชาติ

ส่วนเป้าหมายที่เน้นการจัดสรร “เงินก้อน”ให้กับประชาชน คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

//////////////////////