สำรวจความก้าวหน้าแผนผู้สูงอายุ ในรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย

สำรวจความก้าวหน้าแผนผู้สูงอายุ ในรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 63 ก.แรงงาน ปรับเพิ่มอายุผู้ประกันตนม. 33 เพิ่มเพดานผู้ประกันตนม. 40 เป็น 65 ปี  ขณะที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ บรรจุ “ผู้สูงอายุ” เป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องให้ความสำคัญ ในแผนสิทธิมนุษยชนฯ หวัง ผู้สูงวัยได้เข้าถึงระบบสาธารณสุข สาธารณูปโภค ตามที่รัฐจัดให้อย่างทั่วถึง

ในรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ  พบว่า ในปี 2563  มีความก้าวหน้าเกี่ยวกับดำเนินงานที่เกี่ยวกับกฎระเบียบข้อบังคับ และแผนเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่น่าสนใจ 2 เรื่อง

คือหนึ่ง กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุตามกฏหมาย ด้วยการขับเคลื่อนโครงการที่สำคัญ เช่น การยกร่างปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยมีการปรับอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 การขยายโอกาสในการรับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 จาก 60 ปีเป็น 65ปี

รวมทั้งได้ส่งเสริมความรู้แก่ผู้ที่รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อก้าวสู่สังคมสูงอายุ และส่งเสริมความรู้สิทธิหน้าที่และความปลอดภัยในการทำงาน แก่แรงงานนอกระบบ สูงอายุในภาคเกษตร รวมดำเนินการได้ 29,292 คน

ขณะที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม  ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก ในการจัดทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 4 ปี 2562-2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ โดยให้นำมิติด้านสิทธิมนุษยชนมาปรับใช้ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิที่เกิดจากการปฎิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งยังเป็นการสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่กลุ่มเปราะบางต่างๆในสังคม พร้อมทั้งรายงานผลดำเนินงานตามแผนไปยังกรมคุ้มครองสิทธิ์และเสรีภาพทุกสิ้นปีงบประมาณปีละ 1 ครั้ง ซึ่งในแผนดังกล่าวได้บรรจุเรื่องผู้สูงอายุ ให้เป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่หน่วยงานต้องให้ความสำคัญ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข สาธารณูปโภคอย่างทั่วถึง ตามที่รัฐจัดให้รวม ทั้งเพื่อให้มีมาตรการจูงใจให้มีหน่วยงานดูแลผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุนั้น  มีการนำเสนอข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ ดังนี้ 1 เร่งจัดลําดับความสําคัญของการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน โดยเน้นการจัดสรรงบประมาณในด้านที่จําเป็นที่คํานึงถึงความจํากัดของทรัพยากร และการเปลี่ยนผ่านสถานะของประเทศไปสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงให้ความสําคัญกับแผนงานหรือโครงการที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสวัสดิการสังคมที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มวัยแรงงาน ตลอดจนเร่งรัด มาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ อาทิ การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค

2 จัดหามาตรการจูงใจให้มีการดูแลผู้สูงอายุ อาทิ การให้สิทธิประโยชน์ในเชิงภาษีเพื่อจูงใจแรงงานที่มีความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของผู้ดูแลผู้สูงอายุ การพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมเพื่อการดูแลผู้สูงอายุต่าง ๆ ที่ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานมนุษย์ และการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุฉบับต่าง ๆ ให้สามารถจ่ายค่าตอบแทนที่จําเป็นให้กับผู้ดูแลผู้สูงอายุที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ นอกจากนี้ต้องพิจารณาศึกษาการปรับอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ อาทิ ปัญหาสุขภาพและโรคประจําตัว พื้นที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ เป็นต้น ให้สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายที่จําเป็นที่ผู้สูงอายุต้องแบกรับอย่างแท้จริง

3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกําหนดนโยบาย หรือมาตรการเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาสําหรับ ผู้สูงอายุ มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้บูรณาการกับการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฝึกฝนทักษะ ด้านเทคโนโลยีที่จําเป็นแก่ผู้กําลังจะเป็นผู้สูงอายุและผู้สูงอายุ ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ทัศนคติแห่งการ เรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์

4 จัดหามาตรการส่งเสริมการออม ส่งเสริมการออมภาคบังคับ เพื่อให้ทุกคนมีความมั่นคงทางการเงิน หลังเกษียณ สามารถดํารงชีพได้ การช่วยเหลือส่งเสริมการมีมีงานทําของผู้สูงอายุให้รองรับกับโครงสร้างประชากร ที่เปลี่ยงแปลงไป

5 ดําเนินการให้ผู้สูงอายุเข้าถึงสิทธิต่างๆตามที่ระบุในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างทั่วถึง อาทิ บริการด้านสาธารณสุข การฝึกการประกอบอาชีพ การได้รับความคุ้มครอง จากการกระทําทารุณกรรม การแสวงประโยชน์ การถูกทอดทิ้ง และการได้รับเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือน

/////