ส่องก้าวแรกคุมมาตรฐานธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ 1 ปีหลังสธ.ประกาศกฎกระทรวง 3 ฉบับ พบ ผู้ให้บริการขอใบรับรองกว่า 5 พันราย แต่ไม่ผ่านเกณฑ์กว่า 22 เปอร์เซ็นต์
ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเติบโตขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นไปตามความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนของผู้สูงอายุไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การควบคุมมาตรฐานการให้บริการและสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เอื้อให้ผู้สูงอายุได้รับบริการที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดจากการได้รับบริการที่ไม่ได้มาตรฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ด้วยเหตุนี้ในปี 2563 มีการออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศกฎกระทรวง 3 ฉบับ ประกอบด้วย
1.กำหนดให้กิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพพ.ศ. 2563
2.กำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ความปลอดภัยและการให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงพ.ศ. 2563
3.กำหนดค่าธรรมเนียมและการชำระค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2563
โดยกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับนี้ตราขึ้นเพื่อให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุจะต้องมีมาตรฐาน และปฏิบัติตามที่พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพพ.ศ. 2559 มาตรา 3 (3) ได้ระบุเอาไว้
ทั้งนี้กฎกระทรวงตามประกาศนี้ได้แบ่งลักษณะการให้บริการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง เป็น 3ลักษณะคือ ลักษณะที่1 การให้บริการดูแล ที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพระหว่างวัน โดยไม่มีการพักค้างคืน (Day Care)
ลักษณะที่2 การให้บริการดูแลที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ โดยจัดให้มีที่พำนักอาศัย (Restidential Home) และลักษณะที่3 การให้บริการดูแลและประคับประคอง ที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการฟื้นฟูสุขภาพ โดยมีการพักค้างคืน (Nursing Home)
ผลของการประกาศกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ มีผลให้สถานประกอบการจะต้องปรับปรุงและพัฒนา ทั้งในด้านอาคารสถานที่ สภาพแวดล้อม เช่น ความกว้างของทางเดินต้องไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ความกว้างของเตียงต้องไปน้อยกว่า 90 เซนติเมตร การออกแบบห้องน้ำต้องเป็นไปตามที่กำหนด
สถานประกอบกิจการต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย เช่น มาตรฐานตรวจสอบระบบความปลอดภัยในการให้บริการปีละครั้ง ความพร้อมของอุปกรณ์ปฐมพยาบาล อุปกรณ์ช่วยฟื้นคืนชีพ เครื่องกระตุกหัวใจ มีมาตรการด้านการให้บริการในกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวม มีการติดตั้งการเปลี่ยนแปลงของภาวะสุขภาพ ยึดหลักความเป็นส่วนตัวและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้สูงอายุ และมีระบบส่งต่อในกรณีการเผื่อเจ็บป่วยฉุกเฉิน
นอกจากนี้พนักงานดูแลผู้สูงอายุต้องผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการและสถานประกอบการ ต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโดยมีระยะเวลา 180 วัน หลังจากประกาศกฎกระทรวง หากไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการจะมีความผิดฐานเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพผิดกฎหมาย
โดยจากการสำรวจในปี 2563 ธุรกิจจดทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ พบว่ามีการจดทะเบียนนิติบุคคล 440 ราย แบ่งเป็นประเภทธุรกิจที่มีที่พักและมีคนดูแลจำนวน 388 ราย และประเภทธุรกิจที่ไม่มีที่พักอาศัยจำนวน 52 ราย อย่างไรก็ตามหากนับจำนวนกิจการที่ไม่ได้จดทะเบียน ทั้งโดยนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาตัวเลขน่าจะสูงกว่านี้อีกหลายร้อยราย
ความคืบหน้าล่าสุดในเรื่องนี้ “เพจสูงวัย” ได้สืบค้นข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถิติจำนวนการขอขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการในวันที่ 13 กันยายน 2564 พบว่ามีผู้ขอขึ้นทะเบียนรวม 5,338 ราย ผู้ผ่านการรับรอง 2,937 ราย อยู่ระหว่างการรอผล 1,258 ราย และไม่ผ่านการรับรอง 1,143 ราย
ขณะที่สถานประกอบการ มีจำนวนขอขึ้นทะเบียน รวม 640 แห่ง แบ่งเป็นประเภท Day Care 15 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 14 แห่ง ไม่อนุญาตให้ดำเนินการ 1 แห่ง
ประเภท : Restidential Home ขอขึ้นทะเบียน 28 แห่ง ออกใบอนุญาตให้แล้ว 2 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 16 แห่ง
และประเภท : Nursing Home ซี่งมีจำนวนยื่นขอขึ้นทะเบียนมากที่สุด 595 แห่ง ออกใบอนุญาตให้แล้ว 59 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 534 แห่ง และไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการ 2 แห่ง
ที่มา :รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ
////