สำรวจเทรนด์โลก “Ageing in Place” สูงวัยในที่เดิม ความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญ

สำรวจเทนด์โลก “Ageing in Place”  สูงวัยในที่เดิม ความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญ ในยุคสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์

นับถอยหลังอีกเพียงไม่กี่เดือนจะเข้าสู่ศักราชใหม่ ปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ความท้าทายอย่างหนึ่ง คือ การรับมือสถานการณ์อย่างไรให้เพื่อผู้สูงอายุไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ภายใต้ทรัพยากรและการให้บริการทางสังคมที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะสถานดูแลระยะยาว และบ้านพักคนชรา

เทรนด์ที่กำลังมาแรงในทั่วโลก คือ “การสูงวัยในที่เดิม” หรือ “Ageing in Place”  ซึ่งเป็นแนวคิดให้ผู้สูงอายุ สามารถพักอาศัยในสถานที่เดิมได้ ทั้งในชุมชน หรือครอบครัว โดยจะต้องมีการจัดการสภาพแวดล้อม และที่พักอาศัยให้เป็นมิตร และเหมาะสมกับผู้สูงอายุ

โดยเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ ที่มีการพูดคุยในเวทีกลยุทธ์ เรื่อง “การสูงวัยในที่เดิม (Ageing in Place) : ข้อเสนอนโยบายเพื่อการรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์”  ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)

ดร.ณปภัช สัจนวกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการดูแลระยะยาวในต่างประเทศ  ว่า ภาครัฐได้เปลี่ยนแปลงบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่มีจำนวนไม่มาก ทำให้มีการสร้างการดูแลผู้สูงอายุประเภทสถาบัน   แต่พอผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การดูแลประเภทสถาบันไม่เพียงพอต่อการรองรับ จึงมีการถ่ายโอนการดูแลผู้สูงอายุไปให้ครอบครัว ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่มีครอบครัวก็ให้ชุมชนเป็นผู้ช่วยดูแล

 

ดร.ณปภัช กล่าวว่า สถานการณ์ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาในกลุ่มประเทศตะวันตกจะพบว่าผู้สูงอายุเสียชีวิตในที่อยู่อาศัยประเภทสถาบัน เช่น สถานพยาบาล แคร์โฮม โรงพยาบาลมีการดูแลที่เปิดให้มีการดูแลระยะยาวหรือสถานที่ที่คล้ายกับบ้านพักคนชราจำนวนมาก  จนมีความพยายามเรียกร้องให้สนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุที่ใช้ “ชุมชนเป็นฐาน” ให้ผู้สูงอายุสามารถอาศัยอยู่ในชุมชนหรืออย่างน้อยที่สุดในบ้านของตัวเองให้ได้นานที่สุด

“เทรนด์กำลังมุ่งหน้าไปสู่วิธีการดูแลที่บ้านมากยิ่งขึ้น เพราะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถที่จะมีอิสระได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รองรับสังคมสูงวัย วิธีการที่เราจะทำให้สามารถรองรับสังคมสูงวัยได้คือการทำให้ผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆแข็งแรง มีความแอคทีฟนานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ช่วยลดภาระทางงบปประมาณ มีความยั่งยืนและเคารพทางเลือกของผู้สูงอายุ และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุได้ ในระยะอันใกล้นี้ต้องจับตาคลื่นสึนามิประชากร ในรุ่นเกิดล้านจะกลายเป็นผู้สูงอายุในเร็ววัน คำตอบที่ได้ก็ควรจะสนับสนุนให้เขาอยู่ในบ้านเรือนหรือชุมชนของตัวเอง” ดร.ณปภัช ระบุ

 

โดยองค์ประกอบที่จะทำให้เกิด Ageing in Place  มี 3 องค์ประกอบ คือ สถานที่ สุขภาพ และสังคม  ซึ่งสถานที่เสมือนกับ “ฮาร์ดแวร์” ส่วนสุขภาพและสังคม เปรียบเป็น “ซอลฟ์แวร์”  ซึ่งทั้ง3 เรื่องนี้จะต้องให้ผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลางของการทำงานทั้งหมด

 

ในเรื่องสถานที่ เช่น  การปรับปรุงที่อยู่อาศัย พัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสภาพแวดล้อม เช่น การจัดตั้งศูนย์สำหรับผู้สูงอายุเวลากลางวัน ศูนย์ช่วยเหลือในการดำรงชีวิต ศูนย์ให้บริการผู้มีปัญหาเรื่องความจำเสื่อม ศูนย์ให้บริการดูแลระยะสั้นสถานพยาบาลในชุมชน(รพ.สต) และสถานบริบาล

ด้านสุขภาพ จะต้องให้บริการด้านสุขภาพครอบคลุมสถานะสุขภาพทั้ง 5 ระดับ คือ 1.ชุดบริการสำหรับผู้สูงอายุที่พึ่งพาตนเองได้ 2.บริการดูแลผู้สูงอายุที่ปวดเฉียบพลันและผู้ที่ต้องการการฟื้นฟู 3.บริการดูแลระยะยาวที่บ้านหรือชุมชน 4.บริการดูแลระยะยาวเชิงสถาบัน ,บริการส่งเสริมผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลในระดับสูงและซับซ้อน และ5.บริการการดูแลระยะท้ายหรือการรักษาแบบประคับประคอง

 

ด้านสังคม เช่น การบริการความรู้ข้อมูลข่าวสารและกระบวนการยุติธรรม บริการทางสังคมทั่วไป นันทนาการ การทำงานและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การสร้างความยุติธรรมในการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้สูงวัย ซึ่งสถานการณ์โควิด-19ทำให้ เห็นว่าบริการบางอย่างที่จำเป็นต่อการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพื่อใช้เป็นช่องทางให้สามารถเข้าถึงการรับบริการบางอย่างที่จำเป็นต่อชีวิตได้

โจทย์ใหญ่ที่จะทำให้  Ageing in Place ประสบความสำเร็จ คือ การร่วมมือกันทุกหน่วยงาน ส่วนกลางต้องออกแบบนโยบายให้ชัดเจน คอยกำกับดูแล รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวก  และทำให้ Ageing in Place กลายเป็นเป้าหมายของทุกหน่วยงานภาครัฐ เหมือนในสิงคโปร์มี “คณะรัฐมนตรีที่ดูแลเกี่ยวกับการสูงวัยของประชากร” ทำงานในลักษณะคล้ายกับ “ครม.เศรษฐกิจ” ในไทย

ดร.ณปภัช มองด้วยว่า ในเรื่องของระบบการเงินการคลังในระบบผู้สูงอายุ จะต้องให้คนมีส่วนร่วมในการจัดการชีวิตในอนาคตของตัวเองด้วยหรือไม่ หรือมีกองทุนสำหรับการดูแลระยะยาวในอนาคตที่ประชาชนต้องเริ่มสมทบตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปหรือไม่  คนที่มีรายได้น้อยอาจจะได้รับการช่วยเหลือในเชิงสงเคราะห์อยู่ ขณะที่สถานที่ในเชิงกายภาพ ควรจะเป็นไปตามหลักการออกแบบเพื่อทุกคน

/////