ความท้าทายใหม่ เป้าหมายคนไทย 80ปี มีฟันไม่น้อยกว่า 20 ซี่ เตือน มีฟันน้อยเสี่ยงเกิดโรคเรื้อรังหลายโรค

ความท้าทายใหม่ เป้าหมายคนไทย 80ปี มีฟันไม่น้อยกว่า 20 ซี่  เตือน มีฟันน้อยเสี่ยงเกิดโรคเรื้อรังหลายโรค ย้ำ ต้องเริ่มจากดูสุขภาพช่องปากตั้งแต่วัยเด็ก เล็ง ดึงเอกชนร่วมให้บริการตามสิทธิรักษาของภาครัฐ

20 ซี่คือจำนวนฟัน ที่จะทำให้ผู้สูงวัยมีอายุที่ยืนยาว และมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีในการใช้ชีวิตในบั้นปลายด้วยเพราะสุขภาพในช่องปากมีความเชื่อมโยงกับสุขภาพกาย ซึ่งการมีจำนวนฟันที่น้อยลง ส่งผลต่อความสามารถในการบดเคี้ยวอาหาร เกิดภาวะทุพโภชนาการ และนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังอีกหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองเสื่อม โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคความดันสูง โรคไขมันในเลือดสูง  การติดเชื้อในช่องปากที่นำไปสู่สาเหตุการเสียชีวิต รวมไปถึงปอดอักเสบจากการสำลัก

หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยเอง ได้รณรงค์ให้ประชาชนในกลุ่มผู้สุงอายุในวัย 80 ปี ดูแลและรักษาฟันไว้ให้ได้ 20 ซี่ขึ้นไป

ในการเสวนาเรื่อง “การขับเคลื่อนนโยบาย 80 ปี ฟันดี 20 ซี่ ทิศทาง…ความหวัง เติมเต็มคุณภาพชีวิต”  โดย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับกรมอนามัย และองค์กรวิชาชีพด้านทันตกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)  ซึ่งมี ดร.สุปรีดา  อดุลยานนท์  ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส ) ทพ.อรรถพร  ลิ้มปัญญาเลิศ  รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) ทพญ.วรางคนา  เวชวิธี  ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย  กระทรวงสาธารณสุข  และ ทพ.ดร.ธงชัย  วชิรโรจน์ไพศาล  เลขาธิการมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุภาวะร่วมเสวนา เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การที่จะรักษาฟันให้ได้อย่างน้อย 20 ซี่ ในวัน 80 ปี จะต้องเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันในวันเด็ก ซึ่งจะมีฟันแท้ครบทั้งปากในอายุ12 ปี

โดยในวัยเด็กเป็นช่วงวัยที่สามารถเข้าถึงระบบการส่งเสริมป้องกันดูแลช่องปากและฟันได้มากที่สุด แต่ปรากฎว่าเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน จะพบว่า คนในวัยนี้เริ่มไม่เข้าสู่ระบบการส่งเสริมดูแลช่องปากและฟันอีกต่อไป และมักจะมาพบแพทย์เมื่อเกิดปัญหาหรือมีอาการแล้ว ทำให้เกิดการสูญเสียฟันก่อนวัยอันควร

พร้อมยกตัวอย่างในการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้ป่วยสีเขียว ที่รักษาในระบบ Home Isolation จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารที่ทางหน่วยบริการจัดสรรไปให้ที่บ้านได้ เนื่องจากฟันไม่ดี

จากผลสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุระหว่าง 60-74 ปี มีฟันใช้งานมากกว่า 20 ซี่ร้อยละ 58  ขณะที่ผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปเหลือฟันใช้งาน 20 ซี่เพียงร้อยละ 22 เท่านั้น

ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพฟันและช่องปากที่ดี  ทั้งการดูแลด้วยตนเองเบื้องต้นว่าควรไปรับบริการทันตกรรมเมื่อใด โดยต้องรู้สิทธิพื้นฐานที่ได้รับจากภาครัฐ

โดยจะต้องดึงคลีนิคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการประชาขนตามสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย เพื่อให้เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงสิทธิ และการให้บริการจะได้มีความรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากบุคลากรทางทันตกรรมของภาครัฐมีสัดส่วนที่น้อยกว่าในภาคเอกชน

อย่างไรก็ตามการที่จะไปสู่เป้าหมายให้ผู้สูงอายุในวัย 80 ปี มีฟัน 20 ซี่ ต้องทำไปพร้อมๆ กันหลายมิติ การดูแลสุขภาพในช่องปากควรเริ่มตั้งแต่วัยก่อนสูงอายุ ด้วยการพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะหากตรวจสอบและพบความผิดปกติในช่องปากเบื้องต้นได้ การป้องกันและรักษาจะไม่ยุ่งยากซับซ้อน และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงสูงวัยได้

 

///