เปิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จากรายงานผู้สูงอายุไทยปี 63 หนุนอยู่อาศัยในที่เดิม

เปิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จากรายงานผู้สูงอายุไทยปี 63 หนุน อยู่อาศัยในที่เดิม -มีหลักประกันรายได้ -จัดทำแผนเผชิญภัยพิบัติ (ตอนที่ 1)

ปี 2565 ไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ เพราะจะมีประชากรในวัย 60ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ  ได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุในด้านต่างๆ เอาไว้ ซึ่งเพิ่มเติมจากข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในปีที่ผ่านมา ดังนี้ การ สนับสนุนให้ผู้สูงอายุอยู่ในที่อาศัยที่ช่วยส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุคงอยู่ในที่อยู่อาศัยเดิมในครอบครัวชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคยโดยปรับปรุงสถานที่และสิ่งก่อสร้างทั้งภายในบ้านและภายนอกบ้านให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ และให้คนในครอบครัวทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุเช่นให้ข้อมูลข่าวสารและให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ

ขณะเดียวกันส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)และเครือข่ายในชุมชน ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างกลไกเฝ้าระวังและดูแลผู้สูงอายุ เช่น มีระบบอาสาสมัครเยี่ยมบ้าน ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุกลางวัน

 

อีกทั้งต้องส่งเสริมให้อปท.และชุมชนปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและจัดบริการสาธารณะโดยเฉพาะการขนส่งสาธารณะที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตนอกบ้านของผู้สูงอายุ พร้อมกับยกระดับมาตรฐานของที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะดำเนินการโดยรัฐหรือเอกชนสำหรับผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องไปอยู่ในที่อาศัยใหม่

 

นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอยู่อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี  โดยการสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้สูงอายุในการป้องกันตนเองจากภัยรอบด้าน ด้วยการให้ข่าวสารความรู้รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือ กลไก เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี นอกจากนี้จะต้องลด “วยาคติ” (การเหมารวม หรือการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งอายุหรือวัย) หรือ แนวคิดเชิงลบต่อผู้สูงอายุในหมู่ประชากรทุกเพศทุกวัย

พร้อมกับการสนับสนุนให้กลุ่มชมรมผู้สูงอายุมีบทบาทและความเข้มแข็ง รวมไปถึงให้ทุกหน่วยงานครอบครัวและสถาบันการศึกษามีส่วนร่วมรณรงค์ให้ประชาชนมีค่านิยมเอื้ออาทรเห็นคุณค่าและแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้สูงอายุ

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ จะต้องส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ในการส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ  และส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้แล้ววางแผนการออมเงิน ใช้จ่ายอย่างประหยัดเพื่อเป็นเงินออมไว้ใช้จ่ายยามชราภาพ รวมถึงสนับสนุนให้กองทุนการออมแห่งชาติมีความเข้มแข็งและมีการบริหารจัดการที่ดี ควบคู่ไปกับมุ่งพัฒนาระบบบำนาญให้ครอบคลุมผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้ารวมทั้งปรับปรุงระบบเบี้ยยังชีพให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

ขณะเดียวกันจะต้องจัดทำแผนช่วยเหลือผู้สูงอายุเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยให้อปท. ทุกระดับรวมผู้สูงอายุไว้เป็นกลุ่มเป้าหมายในแผนป้องกัน-รับมือภัยพิบัติ และต้องจัดทำคู่มือรับภัยพิบัติที่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้สูงอายุเป็นพิเศษเมื่อเกิดภัยพิบัติ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรับมือภัยพิบัติจะต้องมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุในพื้นที่ ซึ่งควรมีรายละเอียดเรื่องตำแหน่งที่อยู่ สถานะทางสุขภาพ และผู้สามารถติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉินข้อมูลเหล่านี้ต้องปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการซักซ้อมแผนปฎิบัติการช่วยเหลือผู้สูงอายุตามกำหนดเวลาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันจะต้องให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้สูงอายุในการเตรียมความพร้อมการดูแลตนเองและการฟื้นฟูหากเกิดภัยพิบัติ

อ่านต่อ : เปิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย รายงานผู้สูงอายุไทยปี 63 (ตอนที่2)

/////////////////////////////