เปิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากรายงานผู้สูงอายุไทยปี 63 แนะเร่งพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขแบบไร้รอยต่อ

เปิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จากรายงานผู้สูงอายุไทยปี 63 แนะ เร่งพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขแบบไร้รอยต่อ หนุน ผู้สูงอายุอยู่ในกำลังแรงงานให้นานที่สุด  พร้อมจัดสวัสดิการทางสังคมอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงภาระงบประมาณแผ่นดิน (ตอนที่2)

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ  ได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุในด้านต่างๆ เอาไว้ เพิ่มเติมจากข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในปีที่ผ่านมา

นอกเหนือไปจากข้อเสนอ ที่สนับสนุนให้ผู้สูงอายุอยู่ในที่อาศัยที่ช่วยส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี , ให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอยู่อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี ,ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน และจัดทำแผนช่วยเหลือผู้สูงอายุเมื่อเกิดภัยพิบัติแล้วประเด็นสำคัญ คือ ด้านสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุไทย ซึ่งรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 ได้มีข้อเสนอแนะในเรื่องนี้ โดยการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการโดยจัดรถโดยสารรับส่งผู้สูงอายุ ,การเพิ่มประสิทธิผลของการดูแลผู้สูงอายุนอกสถานพยาบาลโดยเฉพาะการดูแลระยะยาวที่บ้านและชุมชน ,ส่งเสริมการใช้ยาอย่างเหมาะสมในผู้สูงอายุเพื่อลดผลข้างเคียงจากยา ,เพิ่มประสิทธิผลการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบาหวาน ความดัน การหกล้ม และสุขภาพจิต

รวมทั้งจะต้องส่งเสริมการออกกำลังกายและกิจกรรมทางสังคมด้วยการยกระดับระบบขนส่งมวลชน การเข้าถึงพื้นที่สีเขียว ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและระบบบริการปฐมภูมิ ,การพัฒนาระบบสาระสนเทศให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแม่นตรงและทันสมัย ,จัดระบบบริการสาธารณสุขให้เอื้อต่อการให้บริการผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชน เช่น ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ และระบบการดูแลระยะกลางในชุมชน

นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้นักศึกษาแพทย์ทุกสาขา วิชาพยาบาลและบุคลากรด้านสุขภาพอนามัยอื่นๆ ให้มีความรู้ด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ,ส่งเสริมให้ประชาชนเริ่มสร้างและดูแลสุขภาพของตนตั้งแต่วัยเยาว์เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี และกำหนดตัวชี้วัดความก้าวหน้าของนโยบายและแผนที่ใช้ประโยชน์ได้จริง เชื่อถือได้ และมีความเป็นไปได้ ที่จะรวบรวมและมีความสอดคล้องระหว่างดัชนีกับเป้าหมาย

อีกประเด็นที่มีความสำคัญยิ่ง คือ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุยังคงอยู่ในกำลังแรงงานได้นานที่สุด  โดยจะต้องเสริมทักษะหรือเพิ่มทักษะใหม่ให้กับแรงงานผู้สูงอายุภายใต้แนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต , สร้างแรงจูงใจการทำงานให้กับแรงงานสูงอายุ ด้วยการออกแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นเหมาะสมกับความต้องการและเงื่อนไขตามวัยของแรงงาน

ขณะเดียวกันจะต้องสร้างแรงจูงใจและขยายสิทธิประโยชน์ให้กับนายจ้างที่จ้างงานผู้สูงอายุ พร้อมกับขยายอายุในการเริ่มรับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพให้ยาวนานกว่าที่อายุ 55 ปีขึ้นไป ในกรณีของแรงงานภาคเอกชนที่อยู่ภายใต้ระบบประกันสังคม ,หามาตรการส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติเพิ่มมากขึ้นเพื่อมีหลักประกันด้านรายได้ยามชรา ,เพิ่มบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกิจกรรมCSR ของภาคเอกชนในการส่งเสริมสร้างงานแก่แรงงานสูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ ,ปรับแก้ระเบียบกฎเกณฑ์กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการจ้างงานผู้สูงอายุ รวมทั้งการขยายอายุเกษียณของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และสร้างมโนทัศน์ใหม่เกี่ยวกับนิยามผู้สูงอายุ เพื่อให้สังคมเห็นว่าผู้สูงอายุอย่างมีพลังและมีศักยภาพเป็นผู้ผลิตในตลาดแรงงานได้

รายงานสถานการณ์ผุ้สูงอายุไทย ฉบับนี้ยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุด้วย โดยให้ส่งเสริมสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุโดยคำนึงถึงความยั่งยืนและภาระด้านงบประมาณอย่างจริงจัง ,ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับปรัชญาในการจัดสวัสดิการสังคมให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงในบริบทของสังคมไทยและมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น , กระจายความรับผิดชอบในการจัดสวัสดิการทางสังคมโดยให้ภาคส่วนต่างๆทั้งจากครอบครัวอาสาสมัครชุมชนท้องถิ่นสถาบันศาสนาและภาคประชาสังคมรวมถึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

เหล่านี้คือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคง มีศักดิ์ศรี  และมีสุขภาวะที่ดี

//////////////////////////////