ทำอย่างไรให้มีงานทำหลังวัยเกษียณ ตอนที่ 1ทำไมถึงต้องพัฒนะทักษะการทำงานให้กับผู้สูงอายุ ?

ทำอย่างไรให้มีงานทำหลังวัยเกษียณ ตอนที่ 1 :ทำไมถึงต้องพัฒนะทักษะการทำงานให้กับผู้สูงอายุ ?

World Economic Forum  คาดการณ์ว่าในปี 2565 จำนวนแรงงานมากกว่าครึ่งจะต้องมีการพัฒนาหรือเปลี่ยนทักษะสำคัญ เนื่องจากโครงสร้างอายุของกำลังแรงงานมีการเปลี่ยนแปลง จากสาเหตุที่คนมีอายุยืนยาวขึ้น

เพราะเมื่อมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้อยู่ในตลาดแรงงานได้นานขึ้น และสามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไป แม้ในยามที่สัดส่วนของวัยกำลังแรงงานเริ่มลดลงก็ตาม

ดังนั้นแรงงานในวัยสูงอายุจะเป็นอีกกำลังสำคัญของการขับเคลื่อนตลาดแรงงาน ซึ่งส่งผลให้การกำหนดนโยบายแรงงานในอนาคต คือการสนับสนุนให้คนทำงานอยู่ในตลาดแรงงานนานมากขึ้น และเพิ่มโอกาสให้แรงงานสูงอายุได้รับการจ้างงานอย่างเต็มที่ตลอดช่วงที่อยู่ในตลาดแรงงาน

โดยมีเครื่องมือสำคัญ คือ การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ความสามารถในการได้รับการจ้างงานของกลุ่มแรงงานสูงอายุ

รายงานเรื่อง ข้อเสนอเชิงวิชาการการพัฒนาทักษะการทำงาน (RE-SKILL and UP-SKILL) เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ โดยดร.มนทกานต์ ฉิมมามี และ ดร.ชลธิชา อัศวนิรันดร สถาบันวิจัยสังคม และ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.ธนานนท์ บัวทอง คณะสังคมวิทยาลัยและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสนอต่อมูลนิธิมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) เมื่อตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา

ระบุว่า กุญแจสำคัญของการพัฒนาทักษะแรงงาน มี 3  สิ่ง คือ Reskill  หรือการสร้างหรือเรียนรู้ทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการ รวมไปถึง Upskill หรือ การพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต  ขณะเดียวกันยังจะต้องมีการวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับแรงงานด้วย

เหล่านี้เป็นความท้าทายที่สำคัญในอนาคตของไทย เพราะสัดส่วนของผู้สูงอายุมีความเกี่ยวพันกับ ภาระทางการคลังในการจัดสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยผู้สูงอายุที่อาจต้องปรับจำนวนเงินที่จะได้รับในแต่ละเดือน ซึ่งจะต้องเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในอนาคต และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากอายุคาดหมายเฉลี่ยที่เหลืออยู่ ซึ่งจะมีผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่ดียาวนานขึ้นจากความก้าวหน้าทางการแพทย์

นอกจากนี้ยังมีผู้สูงอายุในปัจจุบันจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเตรียมพร้อมทางการเงินและจัดเตรียมที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมในยามชราภาพได้ ดังนั้นย่อมต้องพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายชีวิต

ไม่นับรวมเงื่อนไขส่วนตัวอื่นๆ เช่น การไม่มีบุตร  หรือจำนวนบุตรที่จะทำหน้าที่เกื้อหนุนในอนาคตของผู้สูงอายุแต่ละครัวเรือนมีแนวโน้มว่าจะลดลงเหลือประมาณ 2 คน อีกทั้งแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจในอนาคตอาจทำให้การเกื้อกูลทางการเงินและสิ่งของจากบุตรเป็นไปได้ยาก

ขณะที่จำนวนประชากรวัยแรงงานที่จะมาทำหน้าที่ส่งผ่าน “ความกินดีอยู่ดี” ให้กับผู้สูงอายุในอนาคตมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในอนาคตประชากรวัยแรงงานแต่ละคนจะต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงานของตนขึ้นอีกอย่างน้อย 1 เท่า เพื่อให้รักษามาตรฐานการดำรงชีพของผู้สูงอายุในอนาคต

ที่สำคัญปัญหาความไม่สมดุลของโครงสร้างอายุประชากรของประเทศไทยอาจจะกระทบต่อความกินดีอยู่ดีของประชากรวัยผู้สูงอายุในอนาคต มากกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศในทวีปยุโรป เนื่องจากประเทศไทยยังคงเป็นประเทศรายได้ปานกลาง แต่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุไม่ต่างจากประเทศที่มีรายได้สูง อีกทั้งปัจจุบันประชากรวัยแรงงานของไทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีความสามารถในการออมเงินเพื่อยามชราภาพของตนเองด้วย

ดังนั้นผู้สูงอายุไทยในอนาคตอาจมีความจำเป็นต้องพึ่งพิงรายได้จากการทำงานของตนในการเลี้ยงชีพเป็นสำคัญ

ทำอย่างไรให้มีงานทำหลังวัยเกษียณ ตอนที่ 2

///////////////////////