ทำอย่างไรให้มีงานทำหลังวัยเกษียณ ตอนที่ 2 : ทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุในอนาคต

ทำอย่างไรให้มีงานทำหลังวัยเกษียณ ตอนที่ 2 : ทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุในอนาคต

การก้าวผ่านสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร ที่สัดส่วนของประชากรสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สัดส่วนประชากรวัยเด็ก และวัยแรงงานมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นหนึ่งในความท้าทายของประเทศ ซึ่งความสำคัญในเรื่องนี้อยู่ที่การส่งเสริมการทำงานในผู้สูงอายุ

ในปัจจุบันการผู้สูงอายุที่ยังคงบทบาทการทำงานในระบบ มีรูปแบบการทำงาน 2 รูปแบบ คือ การทำงานแบบต่อเนื่อง และการกลับเข้าทำงานใหม่แต่ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในรูปแบบใดก็ตาม ผู้สูงอายุจำเป็นต้องศึกษาความต้องการขององค์กร หรือ นายจ้าง ว่าต้องการจ้างงานผู้สูงอายุที่มีทักษะแบบใด เพราะจะทำให้ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่อยู่ในวัยใกล้เกษียณสามารถพัฒนาหรือเติมเต็มทักษะนั้น ๆ ได้

 

การศึกษาเรื่อง “ข้อเสนอเชิงวิชาการการพัฒนาทักษะการทำงาน (RE-SKILL and UP-SKILL) เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ โดยดร.มนทกานต์ ฉิมมามี และ ดร.ชลธิชา อัศวนิรันดร สถาบันวิจัยสังคม และ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.ธนานนท์ บัวทอง  คณะสังคมวิทยาลัยและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสนอต่อมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้ยกตัวอย่างการศึกษาเรื่องรูปแบบการจ้างงานผู้สูงอายุในภาคเอกชนของไทย: ความยืดหยุ่น ผลิตภาพ และการคุ้มครอง ที่ดำเนินการเก็บข้อมูลในบริษัทเอกชนที่มีการรับผู้สูงอายุเข้าทำงานทั้งหมด 8 แห่ง

 

พบว่า ส่วนใหญ่บริษัทจะจ้างงานผู้สูงอายุในตำแหน่งที่เน้นการใช้ทักษะการบริการ การสื่อสาร การประสานงาน มากกว่าตำแหน่งงานที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือความชำนาญเป็นพิเศษ เช่น ตำแหน่งดูแล แนะนำลูกค้า พนักงานบริการลูกค้า  ซึ่งตำแหน่งงานนี้เป็นตำแหน่งที่มีความใกล้ชิดลูกค้า หรือ ผู้มารับบริการ จำเป็นต้องมีการสื่อสาร การประสานงานกับส่วนงานต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง ทำให้บริษัทมีความต้องการจ้างงานผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ ใจรักงานบริการมาทำงานในตำแหน่งเหล่านี้

 

สอดคล้องกับการประเมินผลิตภาพการทำงานของผู้สูงอายุ ที่นายจ้างให้ความสำคัญกับทัศนคติต่อการทำงาน ลักษณะอุปนิสัย ทักษะการใช้ชีวิต รวมถึงทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งอาจเรียกโดยรวมว่า “Soft Skill” มากกว่าความสามารถเชิงเทคนิค หรือ ประสิทธิภาพของผลลัพธ์ของงานเพียงอย่างเดียว

 

ผลการศิกษาฉบับนี้ ยังได้วิเคราะห์ทักษะและศักยภาพของผู้สูงอายุที่สำคัญสำหรับตลาดแรงงานในยุค Post Covid-19  ที่การแพร่ระบาดของ Covid-19  ได้เร่งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบตลาดแรงงานไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผลจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตและบริการ ส่งผลให้เกิดงานในรูปแบบใหม่ เช่น การทำงานโดยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์, การมีระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น หลายรูปแบบ เช่น การจ้าง/ทำงานแบบงานรายชิ้นหรือรายวันหรือรายครั้ง และ การจ้าง/ทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) รวมถึงการจ้าง/ทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Remote Working) ซึ่งงานที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ หากพิจารณาถึงข้อจำกัดและเงื่อนไขของผู้สูงอายุนับว่าเป็นรูปแบบงานที่ค่อนข้างเหมาะสมกับผู้สูงอายุ มีความยืดหยุ่น และไม่ผูกมัดผู้สูงอายุจนเกินไป

 

แต่ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุเองต้องมีการเตรียมตัวและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถมีโอกาสทำงานได้ตามความต้องการของตนเอง ทักษะหรือศักยภาพที่สำคัญที่ผู้สูงอายุต้องเตรียมพร้อม ประกอบด้วย ทักษะด้านเทคโนโลยี ,ทักษะด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น งานฝีมือ และการถ่ายทอดองค์ความรู้

 

ทักษะด้านการบริการ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญของการจ้างงานผู้สูงอายุ เพราะทักษะนี้ไม่ถูกจำกัดด้วยอายุ แต่เป็นทักษะที่เป็นหัวใจของงานด้านบริการ ดังนั้นหากผู้สูงอายุมีการเตรียมความพร้อมในทักษะต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ย่อมเป็นที่ต้องการขององค์กรที่มีพันธกิจในด้านการบริการ ไม่ว่าจะเป็นงานขาย งานบริการลูกค้า งานด้านการประสานงาน ติดต่อสื่อสาร ฯลฯ

 

ทักษะด้านวิชาชีพต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในอาชีพนั้น ๆ ค่อนข้างสูง เช่น งานด้านบัญชีและการเงิน เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ยิ่งมีอายุมากขึ้น ยิ่งมีความสามารถ ศักยภาพ และได้รับความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น ทำให้ในปัจจุบันสามารถเห็นได้ว่ามีผู้ที่เกษียณงานนี้ออกมารับงานที่เป็นฟรีแลนซ์ด้านการเงินและบัญชีค่อนข้างมาก นอกจากนี้งานด้านการลงทุนก็เป็นอีกงานหนึ่งที่ต้องอาศัยทักษะการวิเคราะห์และความรู้ที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการเล่นหุ้น รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ หากเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ และคิดวิเคราะห์ที่ดีจะได้เปรียบเทียบเช่นกัน

 

และทักษะเพื่อการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการ ในปัจจุบันการเป็นผู้ประกอบการใหม่ได้รับความสนใจอย่างมากในการรองรับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะการเป็นผู้ประกอบการใหม่ในกลุ่มผู้สูงอายุ

โดยทักษะเหล่านี้จะต้องมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนวัยสูงอายุเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสความสำเร็จในธุรกิจที่สนใจทำภายหลังเกษียณ

//////////////////////////////