26 องค์กรประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนนโยบาย 80 ปีฟันดี 20 ซี่ เติมเต็มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงวัย

26 องค์กรประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนนโยบาย 80 ปีฟันดี 20 ซี่ เติมเต็มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงวัย

นับถอยหลังเหลืออีกเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้นที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ในปี 2565 เพราะไทยจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20นอกจากความสำคัญในเรื่องของสุขภาพกายแล้ว สุขภาพช่องปากถือเป็นอีกมิติหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ด้วยเพราะสุขภาพช่องปากมีความสัมพันธ์กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดในสมองตีบตันด้วย

จากสถิติพบว่าปัญหาช่องปากของคนไทยที่พบมากคือ โรคฟันผุและโรคปริทันต์  รวมไปถึงการมีฟันธรรมชาติเหลือน้อยกว่า 20 ซี่ ซึ่งการที่ผู้สูงอายุมีการสูญเสียฟันจำนวนมากก็จะทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการที่มีผลต่อน้ำหนักตัวและสุขภาพจิตได้ โดยคนส่วนใหญ่สูญเสียฟันในช่วงวัยทำงานตอนปลายไปจนถึงอายุ 60 ปี ประมาณ 10 ซี่ และหลังจากนั้นตั้งแต่ช่วงอายุ 60-80 ปี จะสูญเสียฟันอีกประมาณ 10 ซี่ แต่หากตรวจสอบและพบความผิดปกติในช่องปากเบื้องต้นได้ การป้องกันและรักษาจะไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงสูงวัยได้

ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การจัดเวทีขับเคลื่อนนโยบาย “80 ปี ฟันดี 20 ซี่ เติมเต็มคุณภาพชีวิต” เพื่อสร้างเสริมสุขภาพช่องปากที่ดีให้กับประชาชน  โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2564  โดยเครือข่ายวิชาชีพด้านทันตกรรม 26 องค์กร ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ “ขับเคลื่อนนโยบาย 80 ปีฟันดี 20 ซี่ เพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิต” เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพช่องปาก ลดความเหลื่อมล้ำสิทธิการเข้าถึงระบบบริการด้านทันตกรรม พร้อมจัดเวทีเสวนาขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวด้วย

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมอนามัย กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์สู่การมีสุขภาพฟันดีแม้ในวัย 80 ปี”  โดยคาดว่าตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป อาจประสบกับปัญหาจากประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งสิ่งสำคัญคือจะต้องเร่งเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพผู้สูงวัย และภาระทางงบประมาณ  ซึ่งคาดหวังให้ประชากรมีสุขภาวะที่ดี คือ ต้องเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้  และมีค่าเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 75 ปี  ทั้งนี้ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมพร้อมดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้บรรลุ 4 ยุทธศาสตร์ คือการสร้างศักยภาพประชาชนในการดูแลตนเอง  เน้นการเข้าถึงบริการตามความจำเป็น  ให้บุคลากรมีความเชี่ยวชาญสามารถทำงานในเชิงบูรณาการ รวมทั้งมีระบบการบริหารจัดการ และระบบสนับสนุนที่ดี ซึ่งสุขภาพช่องปากเป็นหนึ่งในสุขภาพร่างกายที่สำคัญ เพราะส่งผลต่อการกิน การเข้าสังคม รวมไปถึงสภาพร่างกายและจิตใจ หากมีการติดเชื้อในช่องปาก อาจส่งผลไปถึงสุขภาพร่างกายด้านอื่นๆด้วย

ด้านดร.สุปรีดา  อดุลยานนท์  ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงนโยบาย 80 ปี ฟันดี 20 ซี่ โดยเชื่อมั่นว่า เป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้ เพราะมีการศึกษาทางวิชาการมาแล้ว ซึ่งจากค่าเฉลี่ยพบว่าประชากรอายุ 60 – 80 ปี สัดส่วน 54 เปอร์เซ็นต์จะเหลือฟัน 20 ซี่ ส่วนช่วงอายุ 80 ปีขึ้นไป เหลือฟัน 20 ซี่ ประมาณ 22  เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้ ถือเป็นวาระสำคัญในการเริ่มต้น เพื่อให้สังคม เข้าใจและเห็นความสำคัญในการดูแลรักษาฟัน โดยสสส.ได้เห็นถึงความสำคัญในส่วนนี้ และพร้อมจะสนับสนุน จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

ขณะที่ทพ.อรรถพร  ลิ้มปัญญาเลิศ  รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการดูแล ผู้ป่วยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด19 พบปัญหาคือ ผู้ที่รักษาแบบ Home Isolation หลายรายไม่สามารถทานอาหารที่หน่วยงานรัฐจัดสรรไปให้ได้ เนื่องจากปัญหาสุขภาพในช่องปาก ดังนั้นสุขภาพช่องปากจึงมีความสำคัญ  โดยการร่วมประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพ ที่ดูแลทั้งการส่งเสริมรักษาป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพ ครอบคลุมตั้งแต่เด็กแรกเกิด ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึง  ส่วนปัญหาเรื่องบุคลากรในส่วนของทันตกรรมในภาครัฐที่มีน้อยนั้น ได้มีความพยายามเชิญชวนคลินิกเอกชนมาเข้าร่วมในระบบทันตสุขภาพมาโดยตลอด

เช่นเดียวกับทพญ.วรางคนา  เวชวิธี  ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย  ที่เห็นว่าจากปัญหาทันตบุคลากรของรัฐที่มีน้อยกว่าเอกชน ทำให้ต้องเน้นการบริการด้านส่งเสริมและป้องกัน เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตัวเองในเบื้องต้นให้ได้ก่อน  ซึ่งพบว่า การจัดการดูแลในช่วงวัยเด็กของหน่วยงานรัฐมีประสิทธิภาพ  แต่อาจต้องมีการติดตามกำกับให้มีคุณภาพและครอบคลุมมากขึ้น  ทั้งนี้ยังมองว่าการดูแลสุขภาพในช่องปาก ครอบคลุมเพียงในช่วงวัยเรียน เมื่อถึงช่วงวัยทำงานบางรายอาจมีปัญหาด้านรายได้ทำให้ ไม่ได้รับการดูแลทันตสุขภาพ นอกจากนี้ยังพบว่าหลายคนรอจนกว่าจะมีอาการจึงจะพบแพทย์  ซึ่งในบางครั้งอาจจะไม่ทันการณ์ได้ พร้อมกันนี้ขอเสนอให้รัฐใช้รูปแบบการดูแลทันตสุขภาพในสถานประกอบการ เช่นเดียวกับการดูแลการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล  เลขาธิการมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุภาวะ มองว่า แนวโน้มทันตแพทย์ในภาคเอกชนจะมีมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีระบบที่จะสามารถดึงภาคเอกชนมาเข้าร่วม ในการดูแลระบบสุขภาพช่องปาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งพบว่าคนกรุงเทพฯเข้าถึงบริการ ทันตสุขภาพยากกว่าพื้นที่อื่น

ขณะที่นายกัณฑชิต ศรัณย์บัณฑิต ผู้แทนจากบริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึง สุขภาพฟันก็ถือเป็นด่านแรก ที่จะให้ผู้สูงอายุ ได้มีการพัฒนาและดูแลสุขภาพมากขึ้น จึงมองว่าโครงการนี้จะสามารถทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดีขึ้น

ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เห็นว่า ไทยต้องเตรียมตัว ในการวางระบบดูแลผู้สูงอายุทุกคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งประเด็นหลัก ในระบบหลักประกันสุขภาพจะต้องกลับมาพิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทันตกรรม และต้องให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้จริง และจะต้องมีเตรียมความพร้อมของหน่วยบริการให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน

//////////////////////////////////////////////////