“โควิด-19” ตัวเร่ง ทำให้สาธารณสุขทางไกลเบ่งบาน เผย สถิติส่งยา –เวชภัณฑ์ จากรพ.สู่บ้านผู้ป่วย 1 ปี ส่งไปแล้วกว่า 3 แสนครั้ง
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2563 เป็นตัวเร่งให้การสาธารณสุขทางไกลถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง เพราะสถานการณ์ โควิด-19นี้เอง ที่ทำให้ผู้คนต้องดูแลป้องกันตัวเอง พยายามรักษาระยะห่างทางสังคมและกักตัวอยู่ในบ้านเพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ
โดยเฉพาะผู้สูงอายุนับเป็นกลุ่มเปราะบาง ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทำให้การสาธารณสุขทางไกลจึงเป็นวิธีการที่ “ตอบโจทย์” ช่วยดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสถานบริการ
รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ระบุว่า การสาธารณสุขทางไกลในประเทศไทย เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2537 ในระยะแรกระบบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนที่อยู่ห่างไกล และพื้นที่ทางไกลบางแห่งของประเทศที่ยังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์
เริ่มแรกใช้วิธีการติดต่อสื่อสารระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเมือง กับผู้ป่วยด้วยวิธีส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม แต่ปัญหาและอุปสรรคของการสาธารณสุขทางไกลในขณะนั้น ยังมีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้สัญญาณดาวเทียม ความเสถียรและความครอบคลุมของระบบสัญญาณ อุปกรณ์ติดต่อสื่อสารยังมีสมรรถนะไม่สูงนัก และบุคลากรที่มีทักษะในการใช้เครื่องมือสื่อสารยังมีไม่มากนัก
แม้ว่าเทคโนโลยีในขณะนั้น จะยังไม่เอื้ออำนวย แต่การสาธารณสุขทางไกล มีประโยชน์อย่างยิ่งในการดูแลผู้ป่วย และผู้สูงอายุในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะสามารถเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งทำให้บุคลากรทางการสาธารณสุขในระดับพื้นที่สามารถปรึกษาทางไกลเรื่องการดูแลผู้สูงอายุกับผู้เชี่ยวชาญในระดับสูงขึ้นไปได้ รวมทั้งลดปัญหาอุปสรรคของผู้สูงอายุในการเดินทางไปรับยาและหาแพทย์ตามนัดและอื่นๆอีกมาก
ล่าสุดกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปี 2563 กระทรวงสาธารณสุขได้นำการสาธารณสุขทางไกลมาใช้นำร่อง ใน 27 โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิศสิน โรงพยาบาลสงฆ์ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ บรมราชชนนี สถาบันประสาทวิทยา และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ
โดยบริการสาธารณสุขทางไกลที่นำมาใช้ เช่น การรักษาทางไกลผ่านระบบวิดีโอ และให้บริการส่งยาทางไปรษณีย์ในทุกสิทธิ์การรักษา นำร่องในผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง โรคทางประสาท กระดูกที่มีประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลนั้นๆ
ต่อมามีการขยายการให้บริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้รวบรวมข้อมูลเอาไว้ว่า มี โรงพยาบาลมอบหมายให้ไปรษณีย์ไทยดำเนินภารกิจในการขนส่งยาและเวชภัณฑ์ จำนวน 396 แห่งทั่วประเทศ ทำให้ช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2564 ไปรษณีย์ไทยมีปริมาณการขนส่งยาและเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากโรงพยาบาลไปส่งยังผู้ป่วยถึงบ้านแล้วจำนวนกว่า 300,000 ชิ้น
นอกจากนี้ประโยชน์ของการสาธารณสุขทางไกลยังมีศักยภาพในการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่เพียงลำพังคนเดียว หรืออยู่กันเฉพาะผู้สูงอายุ ซี่งการสาธารณสุขทางไกลจะเป็นช่องทางหนึ่งในการนำบริการสุขภาพเคลื่อนที่ไปหาผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการสนับสนุนแนวคิดเรื่องของการสูงวัยในที่เดิม (Ageing in place)ด้วย
นับจากนี้ไป ประเทศไทยไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 การสาธารณสุขทางไกลจะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยดูแลสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุในที่อยู่อาศัยเดิม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารและอินเตอร์เน็ต รวมทั้งความพร้อมของข้อมูลและความรอบรู้ด้านดิจิทัลของผู้คน จะทำให้การสาธารณสุขทางไกลของประเทศเบ่งบานและเป็นประโยชน์ของผู้สูงอายุในอนาคตอย่างแน่นอน
//////////////////////////