ข้อเสนอเชิงวิชาการการพัฒนาทักษะการทำงาน (RE-SKILL and UP-SKILL) เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ

ข้อเสนอเชิงวิชาการการพัฒนาทักษะการทำงาน (RE-SKILL and UP-SKILL) เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ

ด้วยเพราะจำนวนและสัดส่วนของประชากรสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สัดส่วนประชากรวัยเด็ก และประชากรวัยแรงงานที่มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน จนกลายเป็นความท้าทายของประเทศในการก้าวผ่านสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรนี้

 

เมื่อผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ย่อมเกิดเป็นภาระทางการคลังในการจัดสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยผู้สูงอายุ งบประมาณที่ใช้ในการรักษาพยาบาล อีกทั้งยังมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเตรียมความพร้อมทางการเงินและการจัดที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมในยามชราภาพได้จึงต้องพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐ  แต่ทว่าประชากรวัยแรงงาน ที่จะมาทำหน้าที่ส่งผ่านความกินดีอยู่ดีให้กับผู้สูงอายุกลับมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน

 

ในอนาคตประชากรวัยแรงงานแต่ละคนจะต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงานของตนเองขึ้นอย่างน้อยหนึ่งเท่าเพื่อให้รักษามาตรฐานการดำรงชีพของผู้สูงอายุ ดังนั้นการส่งเสริมการทำงานในผู้สูงอายุจึงเป็นแนวนโยบายที่มีความสำคัญยิ่ง

ผลการศึกษาเรื่อง “ข้อเสนอเชิงวิชาการการพัฒนาทักษะการทำงาน (RE-SKILL and UP-SKILL) เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ โดยดร.มนทกานต์ ฉิมมามี และ ดร.ชลธิชา อัศวนิรันดร สถาบันวิจัยสังคม และ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.ธนานนท์ บัวทอง  คณะสังคมวิทยาลัยและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสนอต่อมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ระบุว่า จากการสำรวจการทำงานของผู้สูงอายุในปี 2562 พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทำงานในภาคนอกระบบ และแนวโน้มการประกอบอาชีพไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

 

โดยประมาณครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านเกษตร รองลงมาประมาณเกือบ 1 ใน 4 คือผู้ที่เป็นพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า สอดคล้องกับข้อมูล ที่พบว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมาสถานภาพการทำงานของผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 80 เป็นผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง รวมถึงเป็นผู้ที่ช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง มีเพียงผู้สูงอายุร้อยละ 10 เท่านั้นที่ทำงานเป็นลูกจ้างในระบบทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

 

ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจเมื่อปี 2563 พบว่า แรงงานสูงอายุ (ผู้มีงานทำอายุ 60 ปีขึ้นไป) เป็นแรงงานในระบบ ประมาณ 6 แสนคน คิดเป็นเพียงร้อยละ 3.5 จากผู้มีงานทำในระบบทั้งหมด แต่กลุ่มผู้สูงอายุที่ทำงานเป็นแรงงานนอกระบบมีสูงถึงประมาณ 4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20.1 จากผู้มีงานทำนอกระบบทั้งหมด

 

ผลการศึกษาฉบับนี้จึงได้เสนอแนะให้มีการพัฒนาทักษะแรงงานผู้สูงอายุในระยะ 5-10 ปีนี้  ซึ่งแนวโน้มของทักษะที่จำเป็นของแรงงานในภาพรวมในอนาคตไม่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น องค์ความรู้หลักและธีมของศตวรรษที่ 21 ที่จะต้องมีพื้นฐานความรู้อย่างรอบด้าน ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านข้อมูล สื่อและการใช้เทคโนโลยี ทักษะการใช้ชีวิตและทักษะในอาชีพ

 

ขณะเดียวกันแรงงานมีความจำเป็นต้องศึกษาความต้องการขององค์กรหรือนายจ้างว่าต้องการ จ้างงานผู้สูงอายุที่มีทักษะแบบใด ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุรวมถึงผู้ที่อยู่ในวัยใกล้เกษียณสามารถพัฒนาหรือเติมเป็นทักษะนั้นได้ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลในบริษัทเอกชนที่มีการรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน 8 แห่ง พบว่าส่วนใหญ่บริษัทจะจ้างงานผู้สูงอายุในตำแหน่งที่เน้นการใช้ทักษะ“Soft skill” ในการบริการ การสื่อสาร การประสาน มากกว่าตำแหน่งที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือความชำนาญพิเศษ

 

สำหรับในยุค Post covid-19 นี้ ผู้สูงอายุจะต้อง มีความรู้และทักษะในการทำงานร่วมกับเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมากกว่าทักษะในการผลิตหรือประดิษฐ์เทคโนโลยี ทักษะด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นงานฝีมือ และการถ่ายทอดความรู้ ทักษะด้านการบริการ ทักษะด้านวิชาชีพต่างๆ และทักษะเพื่อการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการ

 

ส่วนแนวทางปฏิบัตินั้นจะต้องมีแผนระดับชาติด้านการพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงาน ควบคู่กับการส่งเสริมการจ้างงานทั้งในรูปแบบการจ้างงาน การประกอบอาชีพอิสระและการสร้างผู้ประกอบการผู้สูงอายุ พร้อมกับ‌การจัดตั้งคณะทำงานบูรณาการเพื่อพัฒนาและยกระดับทักษะการทำงานผู้สูงอายุ โดยจะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆทั้งหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

รวมไปถึงการสร้างแพลตฟอร์มบูรณาการและฐานข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานผู้สูงอายุแบบครบวงจร , การสร้างเครือข่ายกลุ่มวิจัยเฉพาะ และการกำหนดมาตรการสนับสนุนอุดหนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้ มี 3 กองทุนคือกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน กองทุนผู้สูงอายุ และกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้าน

 

ทั้งนี้การศึกษาผลการดำเนินงานพัฒนาทักษะแรงงานสูงอายุที่ผ่านมา พบว่าจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการทำงาน โดยเฉพาะภายใต้แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ในช่วง 5 ปีย้อนหลังมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากในปีแรก พ.ศ. 2560 กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ประมาณ 7,800 คน จนมาถึงในปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2564 มีแรงงานสูงอายุเข้าร่วมโครงการประมาณ 77,000 คน ซึ่งมากกว่าปีเริ่มต้นถึง 10 เท่าตัว แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับจำนวนแรงงานสูงอายุที่กำลังทำงานอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในระบบและนอกระบบ ประมาณ 4.6 ล้านคน ก็ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

 

ดังนั้นด้วยปัจจัยเร่งหลายด้าน ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเร่งกำหนดนโยบายและมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น รวมถึงต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทของกองทุนที่มีอยู่ให้สามารถนำมาใช้กระตุ้นการลงทุนพัฒนาฝีมือแรงงานของทั้งผู้ประกอบการ และตัวแรงงานสูงอายุเอง ผ่าน 5 ข้อเสนอ ดังนี้ 1.ปรับบทบาทของกองทุนที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ ให้สามารถนำมาใช้จ่ายเงินอุดหนุนโดยไม่ต้องกู้ยืม และกลุ่มวัยแรงงานตอนปลายที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะก่อน

 

2.การสร้างระบบให้คำปรึกษา แนะนำหลักสูตรฝึกอบรม รวมถึงวางแผนการพัฒนาทักษะและอาชีพหลังเกษียณให้กับแรงงานสูงอายุ และกลุ่มวัยแรงงานตอนปลาย 3.การกำหนดมาตรการเพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าและประโยชน์ของการพัฒนากำลังคนในกลุ่มแรงงานสูงอายุ เพื่อลดอคติด้านอายุ 4.การพัฒนารูปแบบการฝึกอบรมให้มีความหลากหลาย และสอดรับกับเงื่อนไขและความต้องการที่แตกต่างกันของผู้สูงอายุแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้สูงอายุยากจนที่ทำงานนอกระบบและอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องจัดบริการฝึกอบรมทักษะอาชีพเชิงรุก อาจดำเนินการร่วมกับชุมชน หรือกลุ่มผู้นำเยาวชนที่ทำงานอาสาสมัครนชุมชนแออัดนั้นๆ  และ5. สร้างวัฒนธรรมการฝึกอบรมและการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต (Training and Lifelong Learning) สร้างให้กำลังคนทุกช่วงวัยเป็น “ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ “Lifelong learners” รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ จะเป็นพื้นฐานสำคัญให้คนทำงานพร้อมที่เปิดรับความรู้และทักษะใหม่ๆ ตลอดเวลา

เหล่านี้คือข้อเสนอที่จะนำไปสู่การพัฒนาทักษะแรงงาน สร้างการประกันรายได้ให้พึ่งพิงตัวเองให้ได้นานที่สุด และใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีในบั้นปลาย

////////////////////////////