ทำอย่างไรให้มีงานทำหลังวัยเกษียณ ตอนที่ 3 : สำรวจหน่วยงานพัฒนาทักษะของแรงงานสูงอายุในต่างประเทศ

ทำอย่างไรให้มีงานทำหลังวัยเกษียณ ตอนที่ 3 : สำรวจหน่วยงานพัฒนาทักษะของแรงงานสูงอายุในต่างประเทศ

การพัฒนาทักษะแรงงานสูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเข้าสู่วัยเกษียณ เพื่อสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพ  การศึกษาเรื่อง “ข้อเสนอเชิงวิชาการการพัฒนาทักษะการทำงาน (RE-SKILL and UP-SKILL) เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ โดยดร.มนทกานต์ ฉิมมามี และ ดร.ชลธิชา อัศวนิรันดร สถาบันวิจัยสังคม และ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.ธนานนท์ บัวทอง  คณะสังคมวิทยาลัยและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสนอต่อมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)ระบุว่าในหลายประเทศมีการจัดตั้งหน่วยงานของภาครัฐ หรือมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการพัฒนากำลังคนของประเทศโดยตรง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลเรื่องการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถแบ่งรูปแบบการดำเนินงานเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานสูงอายุได้ดังนี้

กลุ่มประเทศที่จัดตั้งหน่วยงานหรือแผนงานขึ้นมาเพื่อดูแลกลุ่มแรงงานสูงอายุโดยเฉพาะ

ญี่ปุ่น ได้จัดตั้ง “Silver Human Resource Center” มานานกว่า 20 ปี โดยเป็นหน่วยงานที่ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจากระทรวงแรงงาน มีการจัดตั้งศูนย์กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่จับคู่ ระหว่างผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานกับบริษัทเอกชน หรือผู้ประกอบการ หรือผู้ต้องการจ้างงาน/ซื้อบริการแบบบางเวลาจากผู้สูงอายุ โดยลักษณะงานจะเป็นงานพาร์ทไทม์หรืองานชั่วคราว

สหรัฐอเมริกา มีการจัดตั้ง “Taskforce on the Aging of the American Workforce” ที่มีหน้าที่ศึกษาและกำหนดนโยบายส่งเสริมให้แรงงานสูงอายุอยู่ในตลาดแรงงาน หรือกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง รวมถึงเป็นหน่วยรวบรวมข้อมูลโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระ และโอกาสทางธุรกิจสำหรับแรงงานสูงอายุ เพื่อให้แรงงานสูงอายุสามารถใช้ทักษะความสามารถที่มีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

ขณะที่สิงคโปร์ มีการจัดตั้ง “SkillsFuture Singapore” (SSG) ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขับเคลื่อนและประสานงานเพื่อให้เกิดทักษะแห่งอนาคตของชาติ และส่งเสริมวัฒนธรรมและระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบองค์รวม รวมถึงจัดตั้ง “Workforce Singapore” (WSG) ภายใต้ “Ministry of Manpower” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน การมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน และการจ้างงานของแรงงานทุกระดับ ซึ่งรวมถึงการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของแรงงานสูงอายุอย่างเช่นชุดโครงการ “Senior Worker Support Package” ด้วย

กลุ่มประเทศที่ดำเนินงานพัฒนาทักษะการทำงานผู้สูงอายุภายใต้หน่วยงานเดิมที่มีอยู่

ออสเตรเลีย ดำเนินโครงการ “The Skills Checkpoint Program” และ “The Skills and Training Incentive” โดย The Department of Education and Training  มีการประเมินทักษะที่จำเป็นในการอยู่ในตลาดแรงงานของผู้สูงอายุและทักษะที่จำเป็นในการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง ให้คำปรึกษาแนะนำทักษะที่จำเป็น ตามเส้นทางในอาชีพ รวมถึงสนับสนุนด้านงบประมาณในการลงทุนด้านการ ศึกษา และการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องในการทำงาน เพื่อยกระดับทักษะของผู้สูงอายุให้สามารถอยู่ในตลาดแรงงานได้

นิวซีแลนด์ จัดทำโครงการ “SuperSeniors” ซึ่งดำเนินงานโดย Office for Seniors, The Ministry of Social Development มีการเตรียมความพร้อมด้านการเงิน การวางแผนเกษียน และให้ข้อมูลแก่ผู้สูงอายุ รวมถึงอบรมทักษะเทคโนโลยีและดิจิตัลแก่ผู้สูงอายุ

และสหราชอาณาจักร ดำเนินโครงการ “Fuller Working Lives: a partnership approach” ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจ้างคนงานที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และอบรมทักษะที่จำเป็นให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการกลับไปทำงานหรืออยู่ในตลาดงานนานขึ้น และนายจ้างที่จะได้รับผลประโยชน์จากการจ้างงานผู้สูงอายุ

การดำเนินงานโดยองค์กรพัฒนาเอกชนหรือภาคเอกชน

ในสิงคโปร์ มีองค์กร “Center For Seniors” (CFS) เป็นหน่วยงานบริการสังคมที่ไม่แสวงหาผลกำไร (Social Service Agency; SSA) ที่มุ่งมั่นส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวมของผู้สูงอายุในสิงคโปร์ โดยเฉพาะด้านการฝึกอาชีพ การบริหารจัดการด้านการเงิน และดูแลด้านจิตสังคมของผู้สูงอายุ มีการเว็บไซต์สมัครงานสำหรับแรงงานผู้สูงอายุในสิงคโปร์ที่เกษียนอายุแล้ว ทั้งงานเต็มเวลาและงานพาร์ทไทม์

ในนิวซีแลนด์  มี “Seniors@work” เว็บไซต์สำหรับหางานของแรงงานที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และเชื่อมโยงทักษะที่นายจ้างและแรงงานงานสูงอายุต้องการเข้าด้วยกัน

นอกจากนี้ในต่างประเทศยังมีรูปแบบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยให้ทุนสนับสนุนโดยตรงแก่ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการเพื่อให้ฝึกอบรมทักษะที่เหมาะสมกับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน หรือทักษะที่จำเป็นสำหรับสร้างโอกาสในการได้งานทำในอนาคต เช่น ออสเตรเลีย จ่ายเงินสนับสนุนจำนวน 2,200 เหรียญออสเตรเลีย ให้กับผู้สูงอายุ (อายุ 45-70 ปีที่มีความเสี่ยงจะถูกเลิกจ้างหรือเพิ่งถูกเลิกจ้าง) ที่เข้าร่วมโครงการ The Skills Checkpoint Program และ The Skills and Training Incentive ซึ่งหลังจากได้รับการประเมินทักษะในการทำงาน และได้รับคำแนะนำในการพัฒนาทักษะที่จำเป็น และจะได้รับงบสนับสนุนเพื่อเป็นเงินทุนในการฝึกอบรม

อีกรูปแบบของการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะและขยายอายุการทำงานในกลุ่มแรงงานสูงอายุคือ รัฐให้เงินอุดหนุนภาคเอกชนจ้างงานผู้สูงอายุ เช่น สิงคโปร์ ภายใต้โครงการ Senior Worker Early Adopter Grant (SWEAG) ให้การสนับสนุนเงินทุนจำนวน $125,000 แก่นายจ้างในการขยายอายุการเกษียณอายุอีก 3 ปี สูงกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำตามกฎหมาย และโครงการ Part-time Re-employment Grant (PTRG) ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนสูงถึง $125,000 แก่นายจ้างที่ตกลงจ้างงานแรงงานสูงวัยนอกเวลาตามนโยบายของรัฐ

รวมไปถึงการจัดทำโครงการสำหรับกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มวัยแรงงานตอนปลายที่กำลังประสบปัญหาวิกฤติการทำงานและวิกฤติวัยกลางคน โดยในออสเตรเลีย The Career Transition Assistance program เป็นโครงการถูกออกแบบมาเพื่อช่วยผู้หางานที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป เพื่อสร้างความมั่นใจและทักษะให้สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานในท้องถิ่นได้มากขึ้น โดยการค้นหาทักษะที่แรงงานผู้สูงอายุมีอยู่แล้วและจะย้ายไปยังงานใหม่ได้อย่างไร จากนั้นช่วยกลุ่มคนทำงานที่ประสบปัญหากำหนดเป้าหมายการค้นหางานของแรงงานผู้สูงอายุ รวมถึงช่วยเหลือในการปรับแต่งใบสมัครงานของแรงงานผู้สูงอายุ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสมัครงานของแรงงานผู้สูงอายุ

เหล่านี้คือกลไกที่นานาประเทศได้สร้างขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุยังสามารถอยู่ในภาคแรงงานได้ พึ่งพาตัวเองได้ อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี

////////