ทำอย่างไรให้มีงานทำหลังวัยเกษียณ ตอนที่ 4 : สำรวจสถานภาพ5กลุ่มแรงงานตอนปลาย-สูงวัย

ทำอย่างไรให้มีงานทำหลังวัยเกษียณ ตอนที่ 4 : สำรวจสถานภาพ5กลุ่มแรงงานตอนปลาย-สูงวัย

การศึกษาเรื่อง “ข้อเสนอเชิงวิชาการการพัฒนาทักษะการทำงาน (RE-SKILL and UP-SKILL) เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ โดยดร.มนทกานต์ ฉิมมามี และ ดร.ชลธิชา อัศวนิรันดร สถาบันวิจัยสังคม และ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.ธนานนท์ บัวทอง  คณะสังคมวิทยาลัยและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสนอต่อมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้แบ่งกลุ่มแรงงานที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและยกระดับทักษะการทำงานออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ประกอบไปด้วย

กลุ่มวัยแรงงานตอนปลายที่หลุดจากระบบหรือต้องการเปลี่ยนงานใหม่ (อายุ 45 ปี ขึ้นไป) อยู่ในสถานะเพิ่งถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงานเดิม โดยพบว่าในช่วงมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีกลุ่มแรงงานที่ประสบกับวิกฤติการทำงานและ “วิกฤติวัยกลางคน” ทำให้หลุดออกจากการทำงานในระบบ โดยเฉพาะที่เคยทำงานในภาคเอกชน ไปสู่การทำงานนอกระบบ ทั้งที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ประกอบอาชีพอิสระ ประกอบธุรกิจส่วนตัว และเป็นแรงงานรับจ้าง แรงงานกลุ่มนี้บางส่วนต้องเปลี่ยนสถานะการทำงานแบบกระทันหัน ไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้า ทำให้ไม่ได้เตรียมความพร้อมในด้านทักษะการทำงานใหม่ รวมถึงเงินทุนสำหรับการเริ่มประกอบอาชีพใหม่ในภาคนอกระบบด้วย

กลุ่มวัยแรงงานก่อนเกษียณที่ต้องการทำงานเดิมต่อในระบบ (อายุ 50 ปีขึ้นไป) กลุ่มนี้หากไม่มีการอัพเดททักษะ หรือยกระดับทักษะ อาจเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง หรือไม่ได้รับโอกาสในการทำงานต่อเมื่อถึงอายุเกษียณการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเอกชน ที่มีระบบการคัดเลือกคนให้ทำงานต่อด้วยการวางแผนการสืบทอดตำแหน่งงาน (Succession Planning) เช่น ตำแหน่งงานระดับบริหารสายงานต่างๆ หรือ อาจรวมถึงตำแหน่งงานรองลงมาที่พิจารณาแล้วว่าไม่สามารถหาคนจากภายนอกองค์กรหรือรับพนักงานใหม่มาทำแทนได้

อีกระบบคือ การสร้าง Talent Pool โดยการเก็บประวัติการทำงานและการพัฒนาของพนักงานที่ได้รับคัดเลือก เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการโอนย้ายหรือไปดำรงตำแหน่งที่ว่างลง ดังนั้นคนทำงานในภาคเอกชนจำเป็นต้องมีการพัฒนาศักยภาพตัวเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษา Core competency ไว้ให้ผ่านการประเมิน  ในอีกทางหนึ่งหากกลุ่มนี้ที่ต้องการทำงานต่อในที่ทำงานเดิม หรือคงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่เดิม ก็ต้องเตรียมความพร้อมการเป็น Multi-functional worker คือมีทั้งทักษะเชิงเทคนิคที่ใช้เฉพาะงาน และทักษะแบบที่สามารถปรับใช้กับตำแหน่งอื่นๆ ได้ด้วย

กลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานเดิมต่อเนื่องในระบบ (อายุ 55 ปี/60 ปี) เป็นกลุ่มคนทำงานที่เข้าสู่ช่วงเกษียณอายุ ในภาคเอกชนกำหนดอายุเกษียณที่ 55 ปี หรือบางส่วนที่กำหนดอายุเกษียณที่ 60 ปี ส่วนภาครัฐกำหนดอายุเกษียณที่ 60 ปี กลุ่มนี้ยังต้องการทำงานต่อเนื่อง หรือต้องการขยายอายุการทำงานออกไป หรือที่ทำงานต้องการจ้างงานต่อเนื่องหลังเกษียณ เนื่องจากมีความสามารถเฉพาะที่บริษัท/หน่วยงานต้องการ

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาคุณลักษณะของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ในอนาคตจะมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น และคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี หรือทำงานร่วมกับกลุ่ม digital natives มาอย่างยาวนาน ย่อมมีระดับทักษะที่สามารถทำงานอย่างต่อเนื่องหลังเกษียณอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ในกลุ่มนี้จะเน้นใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์มาใช้ประโยชน์ในการทำงาน เป็นที่ปรึกษา หรือถ่ายทอดให้กับพนักงานรุ่นใหม่

กลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการเปลี่ยนงานใหม่หลังเกษียณ (อายุ 55 ปี/60 ปี) เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตและเงื่อนไขด้านสุขภาพในวัยหลังเกษียณ โดยรูปแบบการทำงานใหม่หลังเกษียณอายุ เช่น ถูกจ้างเข้าไปทำงานในระบบอีกครั้ง แต่อาจจะทำในองค์กรแห่งใหม่ รวมถึงมีการปรับไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น เช่น ที่ปรึกษา เป็นต้น กลุ่มที่ออกไปเป็นผู้ประกอบการ ประกอบอาชีพอิสระ หรือไปทำงานบางเวลาที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงการทำงานเป็นรายโปรเจคหรือรายชิ้นงาน ดังนั้น กลุ่มนี้บางส่วนต้องการ reskill เพื่อเปลี่ยนทักษะใหม่ หรืออบรมทักษะอาชีพระยะสั้น เพื่อนำมาใช้ในการเริ่มประกอบอาชีพใหม่ที่แตกต่างจากที่เคยทำงานในระบบมา

กลุ่มผู้สูงอายุยากจนและจำเป็นต้องทำงานต่อเนื่อง (60 ปีขึ้นไป) เพื่อหารายได้มายังชีพและเลี้ยงครอบครัว ซึ่งจัดเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดในกลุ่มแรงงานสูงอายุ เนื่องจากเสี่ยงต่อการไม่มีงานเมื่ออายุมากขึ้น เพราะไร้ทักษะหรือไม่มีแรงพอที่จะทำงานแบบใช้แรงกายหนักเหมือนเดิม นำไปสู่ความไม่มั่นคงด้านรายได้ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและครอบครัวในที่สุด กลุ่มผู้สูงอายุยากจนส่วนใหญ่ทำงานนอกระบบมาตั้งแต่เริ่มเข้าสู่การทำงาน และยังคงจำเป็นต้องทำงานในสภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายต่อไป เพราะมีทางเลือกจำกัดของการทำงานในยามสูงวัยมากกว่ากลุ่มคนทำงานที่มีทักษะ

โดยข้อเสนอสำคัญสำหรับแรงงานกลุ่มนี้ คือ จำเป็นต้องพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับกลุ่มแรงงานสูงอายุยากจน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบประกันสังคม และไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (จำกัดอายุสมัคร 15-60 ปี) ทั้งที่ดำเนินการโดยรัฐ และการรวมกลุ่มของแรงงานเอง เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ พร้อมทั้งช่วยลดการทำงานแบบยากลำบากและใช้แรงกายหนักเกินไป นอกจากนี้ ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการเติมความรู้ด้านการจัดการการเงินด้วยเพื่อให้ใช้และออมเงินที่หามาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ดังนั้นการพัฒนารูปแบบการฝึกอบรมให้เหมาะสมกับคนทำงานในวัยสูงอายุจะมีความสำคัญ เนื่องจากส่งผลต่อการประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ รวมถึงความสามารถในการนำความรู้และทักษะที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

//////////////////////