ทำอย่างไรให้มีงานทำหลังวัยเกษียณ ตอนที่ 6 : สำรวจ 3 กองทุนพัฒนาแรงงานสูงวัย

ทำอย่างไรให้มีงานทำหลังวัยเกษียณ ตอนที่ 6 : สำรวจ 3 กองทุนพัฒนาแรงงานสูงวัย

การกำหนดมาตรการสนับสนุน-อุดหนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานสูงอายุ เป็นอีกหนึ่งข้อเสนอที่สำคัญในการศึกษาเรื่อง “ข้อเสนอเชิงวิชาการการพัฒนาทักษะการทำงาน (RE-SKILL and UP-SKILL) เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ โดยดร.มนทกานต์ ฉิมมามี และ ดร.ชลธิชา อัศวนิรันดร สถาบันวิจัยสังคม และ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.ธนานนท์ บัวทอง  คณะสังคมวิทยาลัยและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสนอต่อมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)

โดยคณะผู้วิจัยได้พิจารณาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 เรื่องการพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมกับวัย ที่ระบุให้มีการสนับสนุนมาตรการจูงใจทางการเงินและการคลังให้ผู้ประกอบการมีการจ้างงานที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ แต่พบว่ายังไม่ครอบคลุมถึงการสนับสนุนด้านการพัฒนาทักษะด้วย

ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบลงทุนพัฒนาและยกระดับทักษะกลุ่มแรงงานตอนปลายและแรงงานสูงอายุด้วย รวมถึงการให้เงินอุดหนุนไปที่ผู้สูงอายุโดยตรง ซึ่งขณะนี้ มีกองทุนที่มีบทบาทเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะและการประกอบอาชีพของผู้สูงอายุโดยตรง 3 กองทุน ประกอบด้วย

1)กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานทำหน้าที่กำหนดนโยบายและบริหารงาน วัตถุประสงค์สำคัญของกองทุน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งวิธีการใช้ประโยชน์จากกองทุนตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ว่าด้วยการให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน (2558) คือ ให้แรงงานที่อายุ 15-55 ปี และผู้ประกอบการ กู้ยืมเงินกองทุนเพื่อนำไปใช้ในการฝึกอบรมทักษะ หรือการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน

2)กองทุนผู้สูงอายุ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองบริหารกองทุนผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีพันธกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ ส่งเสริมการกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพให้ผู้สูงอายุได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี

โดยทางกองทุนจะให้ทุนประกอบอาชีพ ประเภทกู้ยืมรายบุคคล วงเงินไม่เกินคนละ 30,000 บาท และรายกลุ่มสำหรับผู้สูงอายุ (รวมกลุ่มผู้ร่วมกู้ไม่น้อยกว่า 5 คน) วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งผู้สิทธิขอกู้ยืมต้องมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ปัจจุบัน มีการพัฒนาระบบยื่นขอกู้ยืมเงินเพื่อการประกอบอาชีพผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

และ3)กองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้าน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เดิมนั้นถูกจัดตั้งให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับให้กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านกู้ยืมไปซื้อวัตถุดิบหรืออุปกรณ์ในการผลิตหรือใช้ขยายการผลิต จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้นำเงินกองทุนฯ จำนวน 100 ล้านบาท ส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน คงเหลือไว้จำนวน 30 ล้านบาท สำหรับเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานด้านส่งเสริมการมีงานทำ

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีการเรียกร้องจากกลุ่มแรงงานนอกระบบให้ขยายวัตถุประสงค์ของการใช้เงินทุนให้ครอบคลุมกลุ่มแรงงานนอกระบบอาชีพอื่นๆ ด้วย ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ. … เพื่อนำกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้านมารวมไว้ภายใต้กองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ รวมทั้งมีการขยายขอบเขตวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพ (ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 2564) ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฯ

ผลการศึกษายังระบุด้วยว่า จากการพิจารณาบทบาทของกองทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะแรงงาน และกลุ่มแรงงานผู้สูงอายุ ทำให้พบข้อจำกัดบางประการที่จะใช้ประโยชน์จากกองทุนดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะให้กับกลุ่มแรงงานสูงอายุ เช่น กองทุนของไทยมุ่งเน้นการให้เงินในรูปแบบกู้ยืมเท่านั้น ซึ่งการใช้ประโยชน์จากกองทุนในลักษณะนี้ อาจยังไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานผู้สูงอายุในวงกว้าง และครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

ดังนั้นคณะผู้วิจัยฯ จึงเสนอให้มีการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติมเพื่อนำกรณีศึกษาของต่างประเทศมาปรับใช้ในการสนับสนุน/อุดหนุนการพัฒนาทักษะแรงงานสูงอายุให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ ต้องมีการศึกษาจำนวนเงินอุดหนุนที่เหมาะสมสำหรับการจ่ายโดยตรงให้กับแรงงานสูงอายุ หรือกลุ่มแรงงานตอนปลายที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะการทำงาน

ยกตัวอย่างเช่น กรณีศึกษาของประเทศออสเตรเลีย ในโครงการ The Skills and Training Incentive  ที่รัฐให้เงินสนับสนุนโดยตรงกับผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ โดยครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอายุตั้งแต่ อายุ 45-70 ปี และมีความเสี่ยงจะถูกเลิกจ้างหรือเพิ่งถูกเลิกจ้าง เพื่อเป็นเงินทุนในการฝึกอบรมที่เหมาะสมกับงานปัจจุบัน รวมถึงโอกาสในงานในอนาคต

หรือกรณีโครงการ FutureSkills ชองสิงคโปร์ก็ใช้วิธีการให้อุดหนุนผ่านปัจเจกบุคคลมากกว่าให้เงินผ่านสถานประกอบการหรือสถาบัน โดยไม่จำกัดอายุของผู้เข้าร่วมเรียนรู้และฝึกทักษะในโครงการ

เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงกองทุนเพื่อนำมาพัฒนะทักษะการทำงานของตนเองได้มากขึ้น

////////////////////