เช็คสถานการณ์ทางประชากรสูงอายุไทย สำรวจโอกาสและความท้าทาย

เช็คสถานการณ์ทางประชากรสูงอายุไทย สำรวจโอกาสและความท้าทาย

ในที่สุดไทยก็เข้าสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 นี้ เนื่องจากมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

รายงานฉบับประชาชน – ฉบับเนื้อหา โครงการการทบทวน สังเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุไทย โดยศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะผู้วิจัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนโดยโครงการขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อพัฒนางานด้านผู้สูงอายุและการสื่อสารสาธารณะเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ในปัจจุบัน มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในภาวะยากลำบากหลายมติ

ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ มีประมาณร้อยละ 17 ของผู้สูงอายุมีรายได้รวมทุกแหล่งน้อยกว่า 40,000 บาทต่อปีและไม่มีเงินออมเลย ,มิติสุขภาพ พบว่าร้อยละ 3 เป็นผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง , มิติสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัย ประมาณร้อยละ 5 ที่เคยหกล้มภายในตัวบ้านและบริเวณตัวบ้าน และมิติสังคม ประมาณร้อยละ 1 ที่ครองโสดและอาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว

ดังนั้นหากไม่เกิดการขับเคลื่อนไปในทางแก้ปัญหาที่มีประสิทธิผล ปัญหาต่างๆ ยังคงเดิมเหมือนในปัจจุบัน ในอนาคตจะมีผู้สูงอายุที่เผชิญอุปสรรคความยากลำบากในมิติต่างๆ เหล่านั้นในจำนวนที่มากยิ่งขึ้นตามจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โดยจำนวนและสัดส่วนประชากรวัยผู้สูงอายุในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จำนวนประชากรวัยทำงานต่อผู้สูงอายุ 1 คน มีแนวโน้มลดลง

            สำหรับผู้สูงอายุในอนาคตนั้นจะมีระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงขึ้น  และมีแนวโน้มครองโสดถาวร และไม่มีบุตรเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุไม่มีบุตร และไม่มีหลักประกันรายได้ยามชราภาพแบบทางการจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

แม้จะดูว่าภาระทางการเงินการคลังของรัฐบาลจะมากขึ้นในการที่จะต้องดูแลผู้สูงอายุในอนาคต ทั้งเรื่องสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล และสวัสดิการในการดำรงชีวิต แต่ในขณะเดียวกันก็มี “โอกาส” จากการที่มีจำนวนผู้งอายุมากขึ้น

นั่นเพราะเราจะมีทุนมนุษย์ในภาพรวมของประเทศเพิ่มขึ้น  และมีโอกาสในการพัฒนาความรอบรู้ทางการเงิน และความรอบรู้ด้านสุขภาพมากขึ้น  อีกทั้งยังสามารถนำความรู้ ทักษะ และภูมิปัญญาของผู้สูงอายุมาใช้ในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม  ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ให้ความสำคัญกับประเด็นผู้สูงอายุ และสร้างองค์ความรู้งานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ “ ความท้าทาย” ของเรื่องนี้ อยู่ที่การเตรียมความพร้อมในการสร้างหลักประกันรายได้ยามชราภาพให้กับผู้สูงอายุทุกคนตั้งแต่อยู่ในช่วงวัยทำงาน ,การจัดสวัสดิการสังคมโดยรัฐที่พึ่งพาภาษีอากรและการประกันสังคมจะมีข้อจำกัดมากขึ้น รวมไปถึงประเด็นผลิตภาพแรงงานลด

ส่วนการด้านสุขภาพ พบว่า แบบแผนของโรคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งโรคเกิดใหม่ โรคอุบัติซ้ำ และโรคที่เกิดจากพฤติกรรม และผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากจำนวนประชากรอายุ 80 ปีขึ้นไปที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้บุตรวัยแรงงานจำเป็นต้องรับภาระดูแล ทั้งพ่อแม่ (รวมปู่ย่า/ตายาย) และบุตรของตัวเอง

นอกจากนี้สังคมมีโอกาสขาดแคลนบุคลากรทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ  แต่การพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายของประเทศไทย เพราะต้องไม่ลืมว่านับจากปี 2565 ต่อไปอีก 17 ปีหรือในปี 2582 ไทยจะมีจำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 28 ของจำนวนประชากรทั้งหมด จนกลายเป็นสังคมสูงวัยในระดับสุดยอด

 

///////////////////////