สำรวจผู้สูงวัย 6 กลุ่มเปราะบาง ความท้าทายที่ต้องเผชิญ ผลศึกษาชี้ ผู้สูงอายุในสภาวะพึ่งพิง ที่ข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวจะทะลุ10ล้านรายในปี 2593 ห่วง กลุ่มคนไร้บ้านจะเป็นสังคมสูงวัยเช่นกัน ซ้ำร้ายปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้มีคนไร้บ้านหน้าใหม่อายุ50ปีขึ้นไปมากขึ้น
หากการดูแลให้ความคุ้มครองกับผู้สูงอายุไทยเป็นความท้าทายหนึ่ง การดูแลผู้สูงอายุที่เปราะบางถือเป็นความท้าทายที่มากกว่า
รายงานฉบับประชาชน – ฉบับเนื้อหาโครงการการทบทวน สังเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุไทย โดยศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะผู้วิจัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนโดยโครงการขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อพัฒนางานด้านผู้สูงอายุและการสื่อสารสาธารณะเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ สสส. เปิดเผยผลจากการศึกษาสถานการณ์ของผู้สูงอายุกลุ่มเฉพาะในประเทศไทยที่จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
โดยมีการใช้แนวคิดเรื่องความเปราะบางมาเป็นเกณฑ์การคัดเลือกกลุ่มเฉพาะ จำแนกเป็นความเปราะบางด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากความเสื่อมถอยตาม ความเปราะบางด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่ผู้สูงอายุบางกลุ่มด้อยโอกาสหรือเข้าไม่ถึงสิทธิที่พึงได้รับ ทำให้สามารถแบ่งประชากรสูงอายุกลุ่มเฉพาะเป็น 6 กลุ่ม คือ 1.ผู้สูงอายุที่อยู่ในสภาวะพึ่งพิง เป็นหนึ่งในผู้สูงอายุกลุ่มเฉพาะที่ควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเปราะบางและความเสี่ยงมากกว่าผู้สูงอายุทั่วไป หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ ผู้สูงอายุกลุ่มนี้รวมผู้สูงอายุที่พิการทั้งทางร่างกาย จิตใจ รวมไปถึงสติปัญญาและการเรียนรู้ หรือตกอยู่ในภาวะทุพพลภาพที่ไม่สามารถประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไป ประกอบไปด้วย
“ผู้สูงอายุที่มีความพิการและทุพพลภาพ” จากการทบทวนงานวิจัยพบว่าตัวเลขจากการคาดประมาณว่าในปี 2593 จะมีจำนวนประชากรไทยอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐาน ได้ด้วยตนเอง ประมาณ 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวจากประมาณ 600,000 คน ในปี 2557
รวมถึงผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวร่างกายทั้งแขน ขาและมือ โดยไม่สามารถเดินได้เป็นระยะทาง 2-3 เมตร ขึ้นบันได และไม่สามารถยกของได้ด้วยตัวเองในปี 2557 มีอยู่ประมาณ 4.4 ล้านคน จะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวเป็น 10.3 ล้านคน
นอกจากนี้ งานวิจัยที่ผ่านมาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ยังพบว่าผู้สูงอายุที่พิการหรืออยู่ในภาวะทุพพลภาพมีแนวโน้มจะเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มีการศึกษาค่อนข้างน้อย และยากจน ในประเทศไทย
“ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม” ข้อมูลความชุกของภาวะสมองเสื่อมในประชากรสูงอายุไทย พบว่าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.3 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 12.3 ในปี 2552 ความชุกที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนนึงมาจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นและการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมเพิ่ม แม้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะมีการศึกษาถึงสาเหตุและปัจจัยที่จะช่วยชะลอภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย และในหลายประเทศ ความชุกของภาวะสมองเสื่อมในผู้สุงอายุมีแนวโน้มลดลง แต่ไม่ว่าความชุกของภาวะสมองเสื่อมไม่ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง การให้การดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมมีนัยยะสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งผู้ป่วยเอง ครอบครัว และผู้วางนโยบาย โรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่พิเศษแตกต่างจากโรคอื่นๆ เนื่องจากการให้การดูแลส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัวในทุกรุ่นวัย
2.ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง สถานการณ์ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งโดยบุตรในประเทศไทย มีการพัฒนาตัวชี้วัดขึ้นมาเพื่อวัดระดับความรุนแรงของปัญหา โดยพิจารณาจากมิติของการอาศัยอยู่ด้วยกันและอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันมาร่วมพิจารณา เนื่องจากลักษณะการอยู่อาศัยสองประเภทนี้แสดงถึงโอกาสที่ผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลจากบุตร
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2550-2560) พบว่า มีผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยได้ติดต่อกับบุตรลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งเหตุผลหนึ่งน่าจะมาจากการที่ระบบเทคโนโลยีการสื่อสารที่ดีขึ้น เมื่อนำการได้รับการเกื้อหนุนทางการเงินมาร่วมพิจารณาด้วย พบว่าลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1 ในปี 2550 และร้อยละ 0.8 ในปี 2560 แสดงให้เห็นว่ามีผู้สูงอายุไทยเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้นที่ไม่ได้รับการเกื้อหนุนดูแลทั้งทางวัตถุและจิตใจจากบุตรเลย โดยจำนวนดังกล่าวคงที่ในตลอดช่วง 10 ปีที่มีการเก็บข้อมูล
3.ผู้สูงอายุไร้บ้าน สถิติผู้สูงอายุไร้บ้านสามารถพิจารณาได้จาก 2 โครงการสำรวจสำคัญคือ โครงการการสำรวจข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ในปี 2559 โครงการสำรวจคนไร้บ้าน ในปี 2562 ซึ่งพบคนไร้บ้านที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 20.0 และร้อยละ 17.9 ตามลำดับ
อีกตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมของคนไร้บ้านมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสูงอายุเช่นเดียวกับประชากรทั่วไปคือ อายุมัธยฐานของคนไร้บ้านในการสำรวจปี 2559 พบว่าคนไร้บ้านมีอายุมัธยฐานสูงกว่าประชากรไทยมาก คือ อายุเฉลี่ยประมาณ 50 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับอายุมัธยฐานของประชากรไทยในปีเดียวกับที่แจงนับคือ 38 ปี
นอกจากนี้ ยังพบแนวโน้มกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ (first-time homelessness) ในช่วงหลังอายุ 50 ปี เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ว่างงานหรือต้องออกจากงาน ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเช่าบ้านหรือจ่ายค่าที่พักอาศัยได้ต่อไป
- ผู้สูงอายุในกลุ่มคนไทยไร้สิทธิหรือมีปัญหาสถานะบุคคล หมายถึง “บุคคลที่มีสัญชาติไทยหรืออ้างว่ามีสัญชาติไทย แต่ยังไม่ได้รับการกำหนดสถานะบุคคลที่ถูกต้อง ทำให้ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิพลเมือง เนื่องจากไม่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎรที่ถูกต้อง หรือได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎรแล้วไม่ถูกต้อง หรือเป็นคนไทยที่อยู่ระหว่างการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร”
ข้อมูลผู้สูงอายุจากการสำรวจและให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนไทยไร้สิทธิในปี 2563 มีประมาณ 500 คน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุประมาณ 82 คน (ร้อยละ 16) แบ่งเป็นเพศชาย 30 คน และเพศหญิง 52 คน ผู้สูงอายุกลุ่มนี้เป็นบุคคลตกหล่นทางทะเบียนราษฎรหรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีสัญชาติไทย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานที่คนไทยพึงได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพ
5.ผู้สูงอายุและผู้ใกล้สูงอายุที่ย้ายถิ่นย้อนกลับ เมื่อพิจารณาสถานการณ์การย้ายถิ่นภายในประเทศไทย เริ่มมีกระแสการย้ายถิ่นกลับของกลุ่มวัยแรงงานก่อนเกษียณ และกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการย้ายถิ่นเพราะขาดคนดูแลของกลุ่มสูงอายุตอนกลาง และตอนปลาย ส่งผลให้เรื่องการจัดเตรียมบริการสนับสนุนสำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่ต้นทางที่มีการย้ายถิ่นกลับเข้าไปทวีความสำคัญยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ย้ายถิ่นจากเมืองกลับสู่ชนบท
และ6.ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ ในปี 2562 มีการคาดประมาณกันว่าทั่วโลก มีจำนวนประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศประมาณ 371 ล้านคน โดยตัวเลขของประเทศไทยอยู่ที่ 3.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.97 (LGBT Capital 2020) ของประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก และหากนำโครงสร้างอายุของประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศของประเทศต่างๆ มาปรับใช้กับประเทศไทย จะได้ตัวเลขประมาณการประชากรสูงอายุไทยที่มีความหลากหลายทางเพศและอายุ 50+ อยู่ระหว่าง 298,800 (โครงสร้างอายุของสหภาพยุโรป) ถึง 1.2 ล้านคน (โครงสร้างอายุของสหราชอาณาจักร)
จากการศึกษางานวิจัยในต่างประเทศพบว่าปัญหาสำคัญของกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ คือ มีแนวโน้มจะมีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคติดต่อ และโรคเรื้อรัง รวมทั้งมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดี เช่น ดื่มสุรา สูบบหรี่ มากกว่าผู้สูงอายุทั่วไป อีกทั้งมีความกังวลว่าจะไม่ได้รับการเกื้อหนุนดูแลจากครอบครัวและสังคมเมื่ออายุมากขึ้น และอาจต้องเผชิญกับการถูกกีดกันและการคุกคามในสถานดูแลระยะยาว
ความท้าทายสำคัญในการเตรียมความพร้อมเพื่อดูแลประชากรสูงอายุกลุ่มเฉพาะนี้สามารถพิจารณาได้ใน 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือ ผู้สูงอายุกลุ่มเฉพาะนี้มีแนวโน้มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในสภาวะพึ่งพิง ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง ผู้สูงอายุและผู้ใกล้สูงอายุที่ย้ายถิ่นย้อนกลับ เป็นต้น
ประเด็นที่สองคือ ความซับซ้อนของปัญหาผู้สูงอายุกลุ่มเฉพาะ ทำให้การแก้ไขปัญหาในอนาคตมีความยุ่งยากมากยิ่งขึ้น เช่น กลุ่มผู้สูงอายุไร้บ้าน ผู้สูงอายุในกลุ่มคนไทยไร้สิทธิหรือมีปัญหาสถานะบุคคล ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวคือ นอกจากจะประสบปัญหาพื้นฐานเช่นเดียวกับผู้สูงอายุทั่วไปแล้ว (มีภาวะพึ่งพิง และขาดหลักประกันความมั่นคงทางการเงิน) ผู้สูงอายุกลุ่มเฉพาะยังต้องประสบกับปัญหาซับซ้อนเฉพาะกลุ่มอีก เช่น การมีปัญหาสุขภาพที่รุนแรงกว่าประชากรทั่วไป เนื่องจากพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งเข้าไม่ถึงสิทธิในการรักษาหรือถูกเลือกปฏิบัติ ส่งผลให้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการรักษาเอง หรือในหลายรายเลือกที่จะไม่เข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล
เหล่านี้เป็นโจทย์ที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องเร่งวางแนวทางรับมือต่อไปในอนาคต เพื่อให้ผู้สูงวัยทุกคน ได้รับการเกื้อหนุนให้สามารถใช้ชีวิตในบั้นปลายด้วยการมีสุขภาวะที่ดี และมีความสุขตามอัตภาพ
////