โครงการย่อยที่ 1 การวิเคราะห์สถานการณ์และการพัฒนาระบบบริการดูแลประคับประคอง ที่มีคุณภาพในโรงพยาบาล

ผลการศึกษา

  • การประเมินคุณภาพของศูนย์ดูแลแบบประคับประคองในโรงพยาบาล พบว่า มาตรฐานโครงสร้างด้านอัตรากำลังเป็นตัวชี้วัดที่แทบทุกโรงพยาบาลไม่ผ่านเกณฑ์ มาตรฐานคุณภาพที่มีคะแนนสูงที่สุดคือ
    การเข้าถึงยา opioids รองลงมาคือเชื่อมประสานบริการและส่งต่อและการสนับสนุนผู้ดูแล สำหรับมาตรฐาน
    ที่มีคะแนนน้อยที่สุด คือการดูแลภาวะสูญเสีย รองลงมาคือการลดอุปสรรคการเข้าถึงบริการ นอกจากนี้ตัวชี้วัดด้านการดูแลในภาวะฉุกเฉินและการเข้าถึงแผนดูแลล่วงหน้าของผู้ป่วยยังเป็นจุดที่ต้องการการพัฒนา
  • การประเมินเจตนคติความมั่นใจในการทำงานในทักษะต่างๆ พบว่า ระยะเวลาทำงานมากกว่า 5 ปี
    และการได้รับการฝึกอบรมระยะยาวหรือกลางมีความสำคัญกับความก้าวหน้าทางวิชาชีพและความมั่นใจในการทำงานสูงเพราะเป็นทักษะเฉพาะที่ต้องได้รับการฝึกฝน หัวข้อที่บุคลากรมีความมั่นใจมากที่สุด
    คือความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลประคับประคอง สามารถอธิบายหลักการการดูแลประคับประคองและคัดกรองผู้ป่วยที่จะได้รับประโยชน์จากการดูแลและสิ่งที่ต้องการเรียนรู้เพิ่ม คือ การดูแลผู้ป่วยกลุ่มเฉพาะที่เป็นเด็กและตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม ทักษะการดูแลแผลแบบเฉพาะ
    และการจัดการในภาวะวิกฤตและการบริหารยาและให้บริการ 24 ชั่วโมง
  • การศึกษาเชิงคุณภาพ พบว่า การเป็นขั้วตรงข้ามทางความคิดกับการดูแลกระแสหลักซึ่งคือการรักษาตัวโรค (curative treatment) ส่งผลต่อการทำงานร่วมกันระหว่างทีมเจ้าของไข้และทีมดูแลแบบประคับประคอง เพราะการดูแลแบบประคับประคองเป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้ผู้ป่วยและญาติได้มีตัวตนในการจัดการความเจ็บป่วยของตนเองแตกต่างจากการเข้าไปจัดการความเจ็บป่วยของผู้ป่วยอย่างสมบูรณ์
    สิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนงานคือ การทำงานเชิงเครือข่ายที่ทำให้การดำเนินงานไร้รอยต่อ เชื่อมโยงคนทำงาน พึ่งพาทรัพยากร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้สภาวะความขาดแคลนโดยโรงพยาบาลแม่ข่ายเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ในการทำงานทั้ง hard skills และ soft skills อีกทั้งการประเมินคุณภาพการบริการยังเป็นสิ่งที่คนทำงานให้ความสำคัญ สะท้อนให้เห็นว่าคนทำงานด้านดูแลแบบประคับประคองไม่ได้หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้และพัฒนา  แม้คนทำงานด้านการดูแลประคับประคองจะมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานเพียงใด แต่การไม่ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านความก้าวหน้าทางวิชาชีพและการทำงาน การถูกละเลยจากองค์กรก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจของคนทำงานอย่างสูง เป็นความเสี่ยงในการสูญเสียบุคลากรขององค์กร

ข้อเสนอแนะ  การจัดโครงสร้างศูนย์การดูแลประคับประคอง จะส่งผลให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรคน เงิน ของ อย่างเหมาะสม อีกทั้งการสนับสนุนการทำงานในรูปแบบเครือข่ายจะช่วยขับเคลื่อนและขยายการทำงานด้านการดูแลแบบประคับประคองให้เข้าถึงผู้รับบริการอย่างทั่วถึง รวมถึงการจัดอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ที่จำเป็นและตรงความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ และการส่งเสริมให้มีการประเมินและพัฒนาคุณภาพของศูนย์ดูแลประคับประคองอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ผู้บริหารควรให้ความสำคัญ