การเรียนรู้นโยบายการสูงวัยในที่เดิมจากแนวปฏิบัติที่เหมาะสม: การถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์สู่การขับเคลื่อนนโยบาย ด้านการจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย

“การสูงวัยในที่อยู่อาศัยเดิม” (Ageing in Place) เป็นแนวคิดที่ใช้อธิบายเมื่อบุคคลรู้สึกถึงความมั่นคง (security) และความคุ้นเคย (familiarity) ต่อที่อยู่อาศัยและชุมชนของตัวเอง (Wiles et al., 2012) จนกระทั่งนำไปสู่การตัดสินใจที่จะอยู่อาศัยในบ้านเดิม สภาพแวดล้อมเดิม หรือชุมชนเดิมของตัวเองให้นานที่สุด เท่าที่ความสามารถและวัยจะเกื้อหนุนให้ทำได้ นอกจากนี้ “การสูงวัยในที่อยู่อาศัยเดิม” ยังหมายความรวมถึงความสามารถในการเข้าถึงและได้รับบริการและการสนับสนุนต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อสภาพร่างกายและรูปแบบการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุที่เปลี่ยนแปลงไป (Colello, 2007) ทั้งนี้ เพื่อที่จะสามารถดำรงอัตลักษณ์ (identity) คงความรู้สึกไม่พึ่งพาและเป็นอิสระ (independence and autonomy) รวมถึงรักษาคุณภาพชีวิต (quality of life) ของผู้สูงอายุ

แม้ว่าการสูงวัยในที่อยู่อาศัยเดิมเป็นแนวคิดที่มีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางและมีความพยายามที่จะนำไปสู่ปฏิบัติในบางหน่วยงานของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การสูงวัยในที่อยู่อาศัยเดิมยังคงไม่ใช่แนวทางหลัที่ภาครัฐโดยรวมให้ความสนใจและมุ่งที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ดังนั้น แนวคิด “การสูงวัยในที่อยู่อาศัยเดิม” ยังคงต้องการการให้ความสำคัญและการผลักดันจากภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่งบประมาณและการลงทุน เพื่อสนับสนุนให้แนวคิดดังกล่าวกลายเป็น “แนวทางหลัก” (mainstream approach) ทั้งในแง่ภารกิจและเป้าหมายต่อการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (เพิ่งอ้าง)

ดังนั้น การเรียนรู้เชิงนโยบาย (policy learning) เพื่อแปลงแนวคิดและถอดประสบการณ์จากแนวปฏิบัติที่เหมาะสมในต่างประเทศ สู่การพัฒนารูปแบบและแนวทาง “การสูงวัยในที่อยู่อาศัยเดิม” สำหรับประเทศไทย โดยพิจารณาจากกรณีศึกษาประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์นั้น ยังต้องการการศึกษาในเชิงลึกและวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบถึงความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และการเป็นที่ยอมรับ เพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายและวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมต่อบริบทของประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อที่จะเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมและส่งเสริมคุณภาพชีวิตสำหรับผู้สูงอายุในระยะยาวต่อไปในอนาคต