การจัดทำข้อเสนอกลไกและแนวทางในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานสูงอายุนี้ อยู่บนฐานของกรอบด้านยุทธศาสตร์ชาติที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงวัย และการเตรียมรองรับสังคมสูงวัย รวมถึงแผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับผู้สูงอายุ และได้ดำเนินการอยู่แล้ว นำโดยกระทรวงแรงงาน โดยมีรายละเอียด ตั้งแต่ในขั้นของการกำหนดนโยบายและแผน ไปจนถึงการสร้างกลไกมารองรับการดำเนินงานตามนโยบายและแผนดังกล่าว ประกอบไปด้วย 5 ข้อเสนอ ดังนี้
ข้อเสนอที่ 1: การพัฒนาแผนระดับชาติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับที่สิงคโปร์เคยเปลี่ยนแปลงนโยบายและโครงสร้างองค์กรเพื่อขับเคลื่อน FutureSkills ในปี ค.ศ. 2014 ทั้งนี้ ประเทศไทยควรเร่งให้เกิดการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานสูงอายุในฐานะอีกกลุ่มกำลังแรงงานที่สำคัญของประเทศโดยจัดทำ “แผนระดับชาติด้านการพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานสูงอายุ” โดยแผนดังกล่าวจะกำหนดให้การพัฒนาทักษะการทำงานให้กับผู้สูงอายุต้องดำเนินไปควบคู่กับการส่งเสริมการจ้างงานด้วยทั้งในรูปแบบการจ้างงานต่อเนื่อง การจ้างงานใหม่ การประกอบอาชีพอิสระ (ทั้งแบบเต็มเวลาและบางเวลา) และการสร้างผู้ประกอบการสูงอายุ
ข้อเสนอที่ 2: การจัดตั้งคณะทำงานแบบ Multi-agency Task Force เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาและยกระดับทักษะผู้สูงอายุแบบบูรณาการและเป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ โดยในโมเดลทดลองเสนอให้มีการจัดตั้ง “คณะทำงานบูรณาการเพื่อพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานสูงอายุ” ซึ่งอาจจะมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพในการตั้งคณะทำงาน หรือจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาทักษะของแรงงานสูงอายุโดยตรง เช่น สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานสูงอายุ เป็นต้น องค์ประกอบของคณะทำงานในเบื้องต้นควรประกอบด้วย กระทรวงและหน่วยงานภายใต้กระทรวงที่ดำเนินงานภายใต้แผนบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ในด้านส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันก็ควรบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานอิสระด้านการกำหนดสมรรถนะการทำงาน และสภาวิชาชีพต่างๆ รวมถึงควรมีภาคเอกชนเข้าร่วมด้วยในฐานะเป็นอีกตัวแสดงหลักในการกำหนดทิศทางการพัฒนาทักษะของประเทศ และสามารถเชื่อมโยงความต้องการของนายจ้างกับลูกจ้างได้ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของคณะทำงาน มีดังนี้
- กระทรวงแรงงาน: กรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (และสำนักนโยบายแรงงานนอกระบบที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อดูแลกลุ่มแรงงานสูงอายุที่ทำงานนอกระบบโดยเฉพาะ)
- กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์: กรมกิจการผู้สูงอายุ และศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุในฐานะกลไกระดับท้องถิ่น
- กระทรวงศึกษาธิการ: สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
- กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม: สถาบันวิทยาลัยชุมชน
- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
- สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สภาและสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง
- สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ การพัฒนาทักษะแรงงานจำเป็นต้องอาศัยกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันออกแบบนโยบายและมาตรการที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานสูงอายุในทุกกลุ่ม และในหลากหลายรูปแบบ
ข้อเสนอที่ 3: การสร้างแพลตฟอร์มแบบูรณาการ (Integrated platform) และระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานสูงอายุแบบครบวงจร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับทักษะการทำงานของผู้สูงอายุไทย โดยเน้นออกแบบโครงการ/กิจกรรมบนแพลตฟอร์ม และกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ตรงกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากรสูงวัยในตลาดแรงงาน เช่น ระบบแนะนำการวางแผนอาชีพหลังเกษียณ (post- retirement career counselling) ระบบจับคู่หลักสูตรการฝึกอบรมกับความต้องการของผู้สูงอายุ ระบบจับคู่งานที่ตรงตามทักษะและความสามารถของผู้สูงอายุ เป็นต้น รวมถึงควรมีกระบวนการวัดประเมินผลและการนำเสนอผลเพื่อสะท้อนภาพพัฒนาการของการพัฒนาทักษะผู้สูงอายุ อีกทั้งช่วยกระตุ้นความพยายามในการเรียนรู้ของคนทำงานทั้งในระดับปัจเจกและภาพรวม นอกจากนี้ ควรมีระบบการคัดกรองและประเมินกลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานอย่างเร่งด่วน เช่น กลุ่มเสี่ยงถูกเลิกจ้างเนื่องจากทักษะที่มีอยู่นั้นเริ่มล้าหลังไปแล้ว เป็นต้น
ข้อเสนอที่ 4: การสร้างเครือข่าย/กลุ่มวิจัยเฉพาะ เพื่อผลิตงานวิจัยเป็นฐานในการขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานสูงอายุ โดยเป็นงานวิจัยที่ใช้เครื่องมือใหม่ในการศึกษา เช่น การวิจัยอนาคต (Futures Research) การวิจัยโดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) การวิจัยโดยเก็บข้อมูลระยะยาว (Longitudinal Study) เป็นต้น ส่วนงานวิจัยพื้นฐาน และงานวิจัยแบบถอดบทเรียนความสำเร็จนการพัฒนาทักษะแรงงานสูงอายุ ก็ยังคงต้องมีอยู่ โดยการผลิตงานวิจัยเหล่านี้ รวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในอดีตจะถูกรวบรวมไว้ในแพลตฟอร์มกลางที่สร้างขึ้น นอกจากนี้ ควรมีการออกแบบระบบการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนทิศทางการพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานสูงอายุ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการฝึกอบรมสำหรับแรงงานสูงอายุทุกกลุ่ม
ข้อเสนอที่ 5: การกำหนดมาตรการสนับสนุน/อุดหนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานสูงอายุ ทั้งนี้ จากการพิจารณาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 เรื่องการพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมกับวัย ระบุให้มีการสนับสนุนมาตรการจูงใจทางการเงินและการคลังให้ผู้ประกอบการมีการจ้างงานที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งยังไม่ครอบคลุมถึงการสนับสนุนด้านการพัฒนาทักษะด้วย ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบลงทุนพัฒนาและยกระดับทักษะกลุ่มแรงงานตอนปลายและแรงงานสูงอายุด้วย รวมถึงการให้เงินอุดหนุนไปที่ผู้สูงอายุโดยตรง ซึ่งขณะนี้ มีกองทุนที่มีบทบาทเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะและการประกอบอาชีพของผู้สูงอายุโดยตรง 3 กองทุน