รายงานการวิจัย: การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ

รายงานการวิจัย

การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ

 

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลลักษณะทางเศรษฐกิจของประชากรผู้สูงอายุและกลุ่มวัย 40-59 ปี ในปี 2563 ซึ่งเป็น “ประชากรรุ่นเกิดหนึ่งล้านคนต่อปี” หรือ กลุ่มสึนามิประชากร มีความเปราะบางต่อความยากจนสูง เพราะส่วนมากไม่มีความสามารถในการออม เมื่อพิจารณาจากรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน

ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปี 2563 มีผู้สูงอายุยากจนพุ่งขึ้นในหลายจังหวัด และส่วนใหญ่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งระดับเบี้ยยังชีพขั้นต่ำที่จะช่วยผู้สูงอายุกลุ่มยากจนที่สุดให้พ้นจากความยากจนได้ จะต้องไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ แม้จะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน ก็ยังคิดเป็นงบประมาณที่น้อยกว่าระบบบำนาญของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในระยะยาว

การออกแบบระบบบำนาญแห่งชาติ สามารถพัฒนาระดับมาตรฐานการครองชีพขึ้นไปได้ถึงระดับกึ่งกลางหรือมัธยฐานของครัวเรือนไทยที่ 6,000 บาทต่อเดือน หรือ 200 บาทต่อวัน โดยให้ผู้ทำงานอยู่นอกระบบสามารถทำการออม และให้รัฐบาลร่วมสมทบการออมในสัดส่วนเดียวกัน ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมดไม่สูงกว่าระบบบำนาญภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับระบบบำนาญแห่งชาติ ได้แก่ การขยายฐานภาษี ภาษีฐานทรัพย์สินและการลดนโยบายที่เอื้อให้กับคนรวย (Pro-rich) ซึ่งจะกลายเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมลงได้

โดยคณะผู้วิจัยมีข้อเสนอดังนี้

1. ควรกำหนดให้ระบบบำนาญแห่งชาติ เป็นวาระแห่งชาติ (national agenda) ที่มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน

2. มีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นข้อจำกัด เพื่อให้มีการกำหนดสวัสดิการถ้วนหน้าด้านบำนาญ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนมีสิทธิได้รับ และสามารถคุ้มครองความยากจน จากเส้นความยากจนในแต่ละปี ตัวอย่างเช่น แก้ไข พรบ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เป็น “พรบ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2546” พร้อมทั้งแก้ไขให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ และสามารถมีแหล่งรายได้เพิ่มมากขึ้นสำหรับกองทุนผู้สูงอายุ ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร (2564) เป็นต้น

3. สร้างระบบฐานข้อมูล โดยกำหนดให้ผู้ที่ต้องการเบี้ยผู้สูงอายุส่วนเพิ่มเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ในวัยทำงาน

4. ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุให้เป็นรูปธรรม ทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทำงานนานขึ้น ขอรับบำนาญช้าลง และส่งเสริมการออม

5. ทบทวนนิยาม “การเริ่มนับอายุของผู้สูงอายุ” ให้เพิ่มมากกว่า 60 ปี และขยายเวลาในการ “เกษียณอายุ” จากการทำงาน (ทั้งภาครัฐและเอกชน) โดยอาจจำเป็นต้องแก้ไขกฏหมายบางฉบับ

ทั้งนี้ ควรจะต้องสร้างการขับเคลื่อนในลักษณะของ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” คือ ภาควิชาการ ภาคประชาชน และ ภาคนโยบาย ร่วมมือร่วมใจกันอย่างเข้มแข็ง เหมือนที่ประเทศไทยเคยมียุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” จนสามารถสร้างระบบ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ได้สำเร็จ

โดยควรสื่อสารให้ชัดว่า “สิ่งที่จะได้มา (บำนาญผู้สูงอายุ) มีมากกว่าสิ่งที่จะเสียไป (ภาษี)” และ ควรเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีวิวาทะ (dialogue) รวมถึงใช้กลุ่มคนที่มีอิทธิพลทางความคิด (influencer) และ การสื่อสารออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อชักชวนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์

แน่นอนว่า การผลักดันนโยบายต่าง ๆ อาศัยเจตจำนงทางการเมืองเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งข้าราชการที่มีหน้าที่ถ่ายทอดนโยบายลงสู่การปฏิบัติล้วนมีข้อมูลและความพร้อม อาศัยเพียงความตั้งใจของผู้มีอำนาจที่จะผลักดันระบบบำนาญแห่งชาติให้ถ่ายทอดลงมาสู่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งหากผู้มีอำนาจมีความตั้งใจจริง ย่อมได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมที่ผลักดันเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน และเป็นแนวทางเพื่อให้มีระบบบำนาญแห่งชาติ อันสอดคล้องกับที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศได้ศึกษาวิจัยและเสนอเรื่องนี้ตั้งแต่ 10-15 ปีที่แล้ว

หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศไทยสามารถมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจในระดับโลก ดังนั้น หลังวิกฤต COVID-19 ประเทศไทยควรจะมี การจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ และพัฒนาการบริหารจัดการทางการคลังของระบบบำนาญแห่งชาติให้มีความเพียงพอและยั่งยืน