โครงการ “การพัฒนาระบบ กลไก และมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมของแรงงานนอกระบบที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป และระบบสนับสนุนเพื่อให้เข้าสู่ภาวะสูงวัยอย่างกระปรี้กระเปร่า”

  • Version
  • Download 181
  • File Size 7.77 MB
  • File Count 1
  • Create Date June 23, 2019
  • Last Updated June 23, 2019

โครงการ “การพัฒนาระบบ กลไก และมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมของแรงงานนอกระบบที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป และระบบสนับสนุนเพื่อให้เข้าสู่ภาวะสูงวัยอย่างกระปรี้กระเปร่า”

โครงการ “การพัฒนาระบบ กลไก และมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมของแรงงานนอกระบบที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป และระบบสนับสนุนเพื่อให้เข้าสู่ภาวะสูงวัยอย่างกระปรี้กระเปร่า” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเตรียมความพร้อมของแรงงานนอกระบบใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1) นโยบายกลไก มาตรการ และบทบาทของรัฐบาล และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษาในประเทศไทยและต่างประเทศ ในการส่งเสริมสนับสนุนและเตรียมความพร้อม  2) นโยบาย ยุทธศาสตร์ และกลไกในการขับเคลื่อน พัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนแรงงานนอกระบบของไทยที่มีในปัจจุบัน และประสิทธิผลในการดำเนินการและเตรียมความพร้อม ตลอดจนช่องว่าง/อุปสรรคในการดำเนินการ 3) พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายต่อบทบาทของภาครัฐส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเตรียมความพร้อม

การศึกษาใช้วิธีวิทยาแบบผสานวิธี ประกอบด้วยการศึกษาเอกสาร การศึกษาภาคสนาม ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจและการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยใช้กรอบแนวคิดผู้สูงอายุที่กระปรี้กระเปร่า ซึ่งมีองค์ประกอบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและความมั่นคง และวาระงานที่มีคุณค่า การรวบรวมข้อมูลภาคสนามดำเนินการในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใน 4 ภาค คือ  นครปฐม (ภาคกลาง) อุดรธานี (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) พะเยา (ภาคเหนือ)  และ สงขลา (ภาคใต้) กลุ่มตัวอย่างของการศึกษามี 2 กลุ่ม คือ 1) หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมที่มีบทบาทในการเตรียมความพร้อมแรงงานนอกระบบในการเข้าสู่ภาวะสูงอายุที่กระปรี้กระเปร่า และ 2) แรงงานนอกระบบ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย แรงงานรับจ้างภาคเกษตร แรงงานรับงานไปทำที่บ้าน และ ผู้ค้าแผงลอย อายุระหว่าง 45 - 60 ปี  กำหนดจำนวนตัวอย่างกลุ่มอาชีพละ 50 ตัวอย่าง รวมเป็นจังหวัดละ 150 ตัวอย่าง ใช้แบบสอบถามในการรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา ส่วนการศึกษาเชิงคุณภาพ ประกอบด้วยการสัมภาษณ์  เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่มีบทบาทในการเตรียมความพร้อมในแต่ละจังหวัด การสนทนากลุ่มเจ้าหน้าที่และแรงงาน ส่วนกรณีศึกษา รวบรวมจากแรงงานอาชีพละ 5 กรณีศึกษา รวมเป็น 15 กรณีศึกษาใน 5 จังหวัด

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างแรงงานนอกระบบทั้ง 3 อาชีพมีการศึกษาไม่สูง มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ มีโรคประจำตัวใกล้เคียงกัน ต้องเผชิญปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงาน และได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพมากกว่าสวัสดิการด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงอย่างชัดเจน ส่วนผลการศึกษาเพื่อตอบวัตถุประสงค์ สรุปได้ดังนี้ 1) การสืบค้นเอกสารไม่พบข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทของหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคม และ ภาคการศึกษาในการเตรียมความพร้อมแรงงานนอกระบบ ข้อมูลที่พบในกรณีของประเทศไทยเป็นการทำงานตามภารกิจของหน่วยงาน โดยไม่ระบุเป็นพันธกิจด้านการเตรียมความพร้อมไว้เป็นการเฉพาะ ในกรณีของต่างประเทศข้อมูลการเตรียมความพร้อมมีจำกัดเช่นกัน และปรากฏในกรณีแรงงานในระบบมากกว่า  2) องค์กรที่มีบทบาทโดยตรงต่อการขับเคลื่อน พัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนแรงงานนอกระบบของไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ คณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ โดยกำกับดูแลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ผ่านกลไกอนุกรรมการชุดต่างๆ ตามลำดับขั้น แต่แผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานนอกระบบ ทั้ง 2 แผน คือ แผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงานนอกระบบ พ.ศ. 2555 - 2559 และ พ.ศ. 2560 - 2564 ไม่มีการระบุการเตรียมความพร้อมแรงงานนอกระบบให้เป็นผู้สูงอายุที่กระปรี้กระเปร่า จึงไม่สามารถประเมินประสิทธิผลได้

ส่วนการดำเนินงานโดยภาคประชาสังคมพบว่า องค์กรภาคประชาสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านคุ้มครอง ส่งเสริมแรงงานนอกระบบ คือ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และ สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีแนวทางการทำงานที่แตกต่างกัน 3) ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญได้แก่ ก) กำหนดนโยบายการเตรียมความพร้อมแรงงานนอกระบบให้ชัดเจน ซึ่งอาจกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ข) ให้ความสำคัญต่อ “วาระงานที่มีคุณค่า” ในฐานะเงื่อนไขสำคัญของการเตรียมความพร้อม ค) ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแรงงาน ทั้งในด้านความรู้ ทักษะชีวิต และ ทักษะการทำงาน สนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ โดยบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ ง) สนับสนุนให้แรงงานรวมกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจหรือสังคม เพื่อประโยชน์ในการระบุตัวตนของแรงงาน การเตรียมความพร้อม จ) รณรงค์เพื่อให้เกิดความตระหนักว่าการเตรียมการเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่กระปรี้กระเปร่าเป็นความรับผิดชอบของทั้งตัวแรงงานเอง ภาครัฐ และภาคประชาสังคม