โครงการ “การศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันของการจ้างงานต่อเนื่องในสถานประกอบการและทัศนคติของนายจ้างในภาคเอกชน”

  • Version
  • Download 48
  • File Size 3.48 MB
  • File Count 1
  • Create Date June 23, 2019
  • Last Updated June 23, 2019

โครงการ "การศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันของการจ้างงานต่อเนื่องในสถานประกอบการและทัศนคติของนายจ้างในภาคเอกชน"

โครงการวิจัยนี้วัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ ศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันของสถานประกอบการภาคเอกชนในด้านการจ้างงานต่อเนื่อง ศึกษาแนวทางการปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมของสถานประกอบการภาคเอกชนด้านการจ้างงานต่อเนื่องในสถานประกอบการ และแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมในการสนับสนุนโดยภาครัฐที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางการปรับตัวของสถานประกอบการภาคเอกชน โดยรวบรวมข้อมูลจากนิติบุคคลประเภทบริษัท (มหาชน) และบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และยังคงดำเนินการอยู่และมีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ ทั้งนี้ผลการศึกษาพบการจ้างงานผู้สูงอายุหลายรูปแบบและผลดังกล่าวนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังต่อไปนี้

  1. ภาคเอกชนมีการจ้างงานผู้สูงอายุในหลากหลายรูปแบบดังนั้นมาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุไม่ควรจำกัดเฉพาะแต่การจ้างงานผู้สูงอายุเข้ามาทำงานเท่านั้น ควรพิจารณาส่งเสริมการจ้างงานต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
  2. ภาคเอกชนมีความคาดหวังให้รัฐบาลมีบทบาททั้งในส่วนที่ส่งเสริมและเสริมพลังในด้านการจ้างงานผู้สูงอายุ และให้รัฐบาลเป็นตัวอย่างในการดำเนินการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในภาคราชการเองด้วย
  3. บทบาทของนายจ้างภาคเอกชนในด้านการเตรียมความพร้อมของลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นการดูแลสวัสดิการด้านสุขภาพ การส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมเพิ่มพูนประสบการณ์ การเรียนรู้ตลอดชีพ การพัฒนาทักษะด้านไอที ส่งผลให้ลูกจ้างมีโอกาสได้รับการจ้างงานต่อเนื่องแม้มีอายุมากขึ้น
  4. รัฐบาลควรประชาสัมพันธ์ให้บริษัททราบและรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของสังคมสูงวัย ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวม รวมถึงมาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุที่กำลังดำเนินการอยู่ (มาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุนำรายจ่ายหักภาษี) ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์
  5. รัฐบาลควรที่จะพิจารณามาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุจากมุมมองระยะยาวด้วยเช่นกัน กล่าวคือ นายจ้างไม่ว่าจะเป็นบริษัทระดับใดมีข้อกังวลเกี่ยวกับ “สุขภาพ” ของผู้สูงอายุหากได้รับการจ้างมาทำงาน ดังนั้นรัฐบาลควรมีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างจัดสวัสดิการด้านสุขภาพให้กับลูกจ้าง โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมสุขภาพอันจะเป็นการสร้างเสริมศักยภาพของลูกจ้างในระยะยาว ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งกับตัวนายจ้างและสังคม
  6. รัฐบาลควรส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในความหมายที่กว้างขึ้นกว่าที่ดำเนินการอยู่ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลอาจจะพิจารณาสนับสนุนทางภาษีอากร/เผยแพร่ข้อมูล/เชิดชูเกียรติภาคเอกชนที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินมาตรการส่งเสริมสวัสดิการด้านสุขภาพและ/หรือมาตรการสร้างเสริมทุนมนุษย์ให้กับพนักงานของบริษัทเนื่องด้วยมาตรการดังกล่าวจะสร้างคุณลักษณะที่เหมาะสมในการทำงานของพนักงานเมื่อสูงอายุ การส่งเสริมทักษะด้านไอทีและดิจิตัล / การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพิ่มทักษะและประสบการณ์ให้กับพนักงานในองค์กรตั้งแต่เนิ่นจะสร้างคุณลักษณะที่เหมาะสมในการทำงานของพนักงานเมื่อสูงอายุในธุรกิจหลายประเภท